สำหรับเวอร์ชัน Chronograph ของ Divers Sixty-Five นั้น เราคงต้องบอกว่าพิเศษกว่าบรรดา Limited Edition เพราะจนถึงตอนนี้ Oris ผลิตรุ่นปกติออกมาเพียงแค่หน้าปัดสีเดียวเท่านั้น และยังไม่มีทางเลือกใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอีกเลย ดังนั้น ถ้าคุณชอบนาฬิกาทรงวินเทจและมีฟังก์ชั่นจับเวลาเพิ่มเข้ามา และมีหน้าตาที่สวยสะดุดตา เราคงต้องบอกว่า นี่คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรพลาด
Oris Divers Sixty-Five Chronograph ถึงจะเป็นรุ่นธรรมดาแต่ก็พิเศษจนมองข้ามไม่ได้
-
ะท้อนความงามจากความสำเร็จในอดีตของการเปิดตัวนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของแบรนด์
-
สำหรับรุ่นธรรมดามีเพียงหน้าปัดเดียวสีดำทองกับ 2 รุ่นย่อยคือ สายหนังและสายสตีล
-
เพิ่มความพิเศษด้วยกลไกจับเวลา Oris 771 ที่พัฒนามาจาก Selitta SW-500-1 ซึ่งในปัจจุบัน มีใช้เฉพาะนาฬิการุ่นนี้เท่านั้น
ตอนที่ Oris เปิดตัวเวอร์ชันที่ 2 ของ Carl Brashear ออกสู่ตลาดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นาฬิกาเรือนนี้มากับตัวเรือนบรอนซ์และเป็นรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในสารบของคอลเล็กชั่นปกติของ Oris ดังนั้น ตรงนี้จึงทำให้ความอยากของผมพองโตขึ้นอย่างมาก และเฝ้ารอที่จะหานาฬิการุ่นนี้เข้ามาครอบครองให้ได้ จนในที่สุดฝันก็เป็นจริง แม้ว่า Oris Divers Sixty-Five Chronograph เรือนที่ได้มาจะไม่ใช่รุ่นผลิตจำกัด เป็นแค่รุ่นปกติธรรมดาก็ตาม แต่อย่างน้อยผมก็แฮปปี้กับมันนะ
ที่บอกว่าแฮปปี้ ก็เพราะว่านับจาก Oris นำนาฬิการุ่นนี้มาเปิดตัวเป็นครั้งแรกในฐานะเวอร์ชันที่ 2 ของ Carl Brashear เมื่อปี 2018 ตามด้วยรุ่นผลิตจำกัดของร้านขายเครื่องประดับอย่าง Bucherer ที่เปิดตัวในต้นปี 2019 แล้ว นาฬิกาเรือนนี้ยังไม่เคยมีรุ่นปกติออกวางขายเลย เรียกว่าผลิตเป็น Limited Edition มาก่อนแล้วจากนั้นค่อยผลิตรุ่นปกติตามออกมาขายในค่อนมาทางปลายปี 2019 แถมยังเป็นรุ่นปกติที่มีเพียงแค่แบบเดียวเท่านั้นเอง กับหน้าปัดดำพร้อมขอบตัวเรือน Bronze ขณะที่รุ่นปี 2020 ซึ่งเป็น Holstien Edition นาฬิกาเรือนนี้ก็กลับไปสู่การเป็น Limited Edition บนตัวเรือน All-Bronze
เรียกว่าถ้าคุณจะซื้อรุ่นปกติของมัน ก็มีแค่รุ่นนี้เท่านั้นแหละ ไม่มีรุ่นอื่นอีกแล้ว (ณ ตอนนี้) ก็เลยทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีความพิเศษไม่ต่างจากบรรดา Limited Edition ทั้งหลาย และมีขายแค่ 2 รุ่นเท่านั้นในแบบสายหนังหรือสายสแตนเลสสตีล
จะว่าไปแล้วผมค่อนข้างแปลกใจไม่น้อยกับสิ่งที่ Oris ทำอยู่กับ Divers Sixty-Five Chronograph ทั้งที่คอลเล็กชั่น Divers Sixty-Five แบบ 3 เข็มของพวกเขาได้รับความนิยมและมีรุ่นย่อยออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่องมากรุ่นไม่น้อยหน้า Aquis เลย แต่ทว่ารุ่น Chronograph กลับเหมือนกับหนังคนละม้วนเลย
ย้อนกลับไปเรื่องที่มาของคอลเล็กชั่นนี้กันก่อน Divers Sixty-Five ถือเป็นงานที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการนาฬิกาที่มีความคลาสสิค เพราะเป็นการอ้างอิงรายละเอียดและรูปแบบจากนาฬิการุ่นดังของพวกเขาที่เปิดตัวในปี 1965 และเป็นนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของแบรนด์ที่มีความสามารถในการกันน้ำ 100 เมตร โดยคอลเล็กชั่นนี้ถูกเปิดตัวในวาระของการฉลองครบรอบ 50 ปี และกลายเป็นคอลเล็กชั่นหลักที่วางขายอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ก็เน้นไปที่รุ่น 3 เข็มมากกว่า
แล้วอะไรที่ทำให้ผมชอบและหลงในนาฬิกาเรือนนี้ คำตอบไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า รูปแบบของหน้าปัดกับการจับเวลาแบบ 2 วง หรือ Bicompax ซึ่งเมื่อผสมผสานกับการออกแบบที่ลงตัวรวมถึงการใช้สีดำสลับทองแล้ว ต้องบอกเลยว่านี่คือ นาฬิกาดำน้ำแบบ Chronograph ที่สวยที่สุดรุ่นหนึ่งในมุมมองของผมเลย แฝงความวินเทจของรูปลักษณ์เข้ากับความหรูหรา และความทันสมัยในการเติมรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างลงตัว
ผมเลือกรุ่น Ref.01 771 7744 4354-07 8 21 18 ที่มากับตัวเรือนและสายแบบสตีลซึ่งดูเข้ากันและลงตัวกว่าสายหนัง ที่สำคัญคือราคาต่างกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งในกรณีที่คุณเบื่อสายหนังและอยากได้สายสตีลมาเข้าคู่แทน ราคาที่จะต้องจ่ายนั้นเชื่อเลยว่ามีมากกว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น ผมเลยเลือกจ่ายแพงตอนนี้แล้วจบ ดีกว่าไปเสียเงินทีหลังกับการตามหาสายตรง
Divers Sixty-Five Chronograph ยึดรูปแบบและดีไซน์ที่ถอดแบบมาจากรุ่น 3 เข็ม ขนาดตัวเรือนไซส์ 43 มิลลิเมตร ถือว่าเป็น Divers Sixty-Five ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเพราะตามปกติจะมีไซส์อยู่ที่ 36-42 มิลลิเมตร ตัวนาฬิกามีขาสายค่อนข้างยาว ซึ่งการขัดเงาสลับด้านบนตัวเรือนและสายของนาฬิการุ่นนี้ทำได้ดีและคุ้มค่ากับค่าตัวในระดับแสนกลาง
อย่างไรก็ตาม ทั้งเส้นผ่านศูนย์กลาง Lug to Lug ในระดับ 52 มิลลิเมตร พร้อมความหนา 16.44 มิลลิเมตร ส่วนหนึ่งของความหนาที่อยู่ในระดับนี้เป็นเพราะการใช้กระจก Sapphire แบบทรงโดมที่มีการยกขึ้นและค่อนข้างนูนสูง บวกกับฝาหลังที่นูนออกเพราะต้องรองรับกับกลไกแบบ Chronograph ที่มีความหนาเกือบ 8 มิลลิเมตร มันก็เลยทำให้ทุกอย่างพร้อมที่จะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นได้ทั้งนั้น
ดังนั้น ด้วยมิติและรูปทรงอาจจะไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อมือเล็กหรือกำลังมองหานาฬิกานาฬิกาที่เรือนบาง ส่วนคนที่มีข้อมือขนาด 6 นิ้วปลายๆ จนถึง 7 นิ้ว ผมว่าสามารถสอบผ่านได้อย่างไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมชอบมากนอกเหนือการมีหน้าปัดแบบ 2 วง คือ การจับคู่สีระหว่างสีดำของพื้นหน้าปัดเข้ากับสีทองที่ถูกแต้มอยู่บนสเกลสำหรับใช้ในการจับเวลา รวมถึงตัวหนังสือยี่ห้อและรายละเอียดต่างๆ บนหน้าปัด ส่วนหลักชั่วโมงมาในแบบทรงกลมล้อมกรอบด้วยวัสดุเคลือบสีทอง และมีการหยอดสารเรืองแสงที่มีสีอมเหลือง หรือ Old Radium ลงไปในหลุม เช่นเดียวกับการแต้มสารเรืองแสงนี้ลงไปทั้งบนเข็มนาที ชั่วโมง และอีก 2 เข็มของหน้าปัดจับเวลา ทุกอย่างลงตัวและเหมาะสม ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป
ตรงนี้รับกับขอบตัวเรือนที่มาพร้อมกับอินเสิร์ตสีดำที่ผลิตจากอะลูมิเนียม และมีขอบด้านข้างเป็นบรอนซ์ตัดกันเพื่อให้ดูสวยงาม หลายคนอาจจะบอกว่าด้วยระดับราคาที่อยู่ในตัวเลขแสนกลางๆ ค่อนมาทางปลายด้วยซ้ำ ทำไมถึงยังใช้อินเสิร์ตที่ผลิตจากอะลูมิเนียม ดูไม่คุ้มราคาสักเท่าไร
ถ้าอยู่ดีๆ โผล่มาแบบนี้โดยที่ไม่มีคอนเซ็ปต์อะไรมาเกริ่นล่วงหน้าให้รับทราบ ผมคงเห็นตรงกันกับความคิดเห็นนี้ แต่ในเมื่อนาฬิกาเรือนนี้ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของวินเทจและมีที่มาที่ไป ผมคิดว่านี่คือการตัดสินใจเลือกใช้วัสดุที่ยอมรับได้ เพราะทุกอย่างถูกปูทางและบอกมาแล้ว ไม่ได้ติดใจอะไรในแง่ความคุ้มค่าเมื่อหันมามองตัวเลขราคา
นอกจากนั้น ความเป็นวินเทจที่ Oris ออกแบบและใส่ลงไปในนาฬิกาเรือนนี้ ส่วนตัวผมว่าทำได้อย่างพอดีและกลมกล่อมอย่างมาก ซึ่งนอกจากสิ่งที่อธิบายข้างบนแล้ว สารภาพเลยว่าผมค่อนข้างชอบ Pusher หรือปุ่มกดในระบบ Chronograph แบบมีหัวโตมากกว่าพวกที่เป็นแท่งทื่อๆ และยิ่งเมื่ออยู่ในนาฬิกาที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิดย้อนยุค มันจึงเข้ากันได้เป็นอย่างดี
กลไก Oris 771 ที่อยู่ในนาฬิกาเรือนนี้อ้างอิงพื้นฐานมาจาก SW-510-1 ของ Sellita และเป็นกลไกที่ดัดแปลงขึ้นมาเพื่อใช้กับนาฬิกาในตระกูล Chronograph ของ Divers Sixty-Five โดยเฉพาะ ตัวใยนาฬิกาหรือ Hairspring เป็นแบบ Nivarox วัสดุที่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1933 โดย FAR หรือ Fabriques d’Assortiments Reunis ก่อนถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมผลิตกลไกนาฬิกา เพราะมีคุณสมบัติในด้านความทนทาน และต้านทานต่อสนามแม่เหล็กได้เป็นอย่างดี
กลไกนี้มาในรูปแบบจับเวลา 2 วง ฝั่ง 9 นาฬิกาจะเป็น Small Second ของระบบแสดงเวลาหลัก ส่วนตำแหน่ง 3 นาฬิกาจะเป็นการจับเวลาในส่วนนาทีซึ่งจับเวลาได้สูงสุด 30 นาที ซึ่งเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องมีความซับซ้อนในแง่ของกลไกมากมายเหมือนกับกลไกจับเวลายุคใหม่ๆ ส่วนกำลังสำรองถือว่าพอรับได้กับตัวเลข 48 ชั่วโมง อาจจะดูน้อยไปนิดสำหรับนาฬิกายุคใหม่ที่หลายรุ่นเริ่มต้นด้วยตัวเลขนำหน้าที่เป็น 6 หรือ 7 กันแล้ว
ราคาของ Oris Divers Sixty-Five Chronograph ในบ้านเราอยู่ที่ 153,900 บาท แน่นอนว่าด้วยช่วงราคานี้ คู่แข่งมีมากมายและหลากหลายอย่างไม่ต้องสงสัย คราวนี้แล้วเราจะใช้อะไรเป็นตัวนำในการตัดสินใจสอยนาฬิกาเรือนนี้เข้ากรุละ เอาเป็นว่าถ้าคุณกำลังมองหานาฬิกาจับเวลาที่มีกลิ่นอายความคลาสสิคที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากทางเลือกที่มีอยู่ในตลาด ที่สำคัญไม่ใช่นาฬิกาที่เกลื่อนอยู่ในตลาด…ผมว่านี่คืออีกหนึ่งตัวเลือกที่คุณน่าจะจับใส่เข้าไปใน List เพื่อพิจารณา
ข้อมูลทางเทคนิค : Oris Divers Sixty-Five Chronograph
- เส้นผ่านศูนย์กลาง: 43 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
- ความหนา : 16.44 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 21 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย: Stainless Steel
- กระจก: Sapphire ทรงโดมพร้อมกับเคลือบสารกันการสะท้อนแสงที่ด้านใน
- กลไก: Oris 771 อัตโนมัติ จับเวลาสูงสุด 30 นาที
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- สำรองพลังงาน: 48 ชั่วโมง
- ระดับการกันน้ำ: 100 เมตร
- ประทับใจ : การออกแบบในสไตล์วินเทจ ขนาดตัวเรือนที่ลงตัวกับข้อมือระดับ 7 นิ้ว
- ไม่ประทับใจ : ฝาหลังแบบขัดเงาที่เป็นรอยง่าย และความกว้างขาสายไซส์แปลก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline