Omega Speedmaster X-33 ถ้าหลงรักก็อย่ากังวลในการเป็นเจ้าของ

0

ในปี 1998 ทาง Omega ได้เปิดตัวนาฬิกายุคใหม่สำหรับนักบินอวกาศกับรูปลักษณ์ที่ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัย แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นข้อกังวล และทำให้ X-33 ได้ค่อยได้รับการตอบรับที่ดีสำหรับแฟนๆ ของ Speedmaster

- Advertisement -

Omega Speedmaster X-33

Omega Speedmaster X-33 ถ้าหลงรักก็อย่ากังวลในการเป็นเจ้าของ

  •  นาฬิกา 2 ระบบที่ Omega พัฒนาขึ้นมาเพื่อการใช้งานของนักบินอวกาศ

  • ตัวเรือนขนาด 42.5 มิลลิเมตร ผลิตจากไทเทเนียมทั้งตัวเรือนและสาย

  • กลไกควอตซ์แสดง 2 ระบบคือ Analog และ Digital ในรหัส Cal.1666

จุดเริ่มต้นของผมในความชอบที่มีต่อนาฬิกาในคอลเล็กชั่น Speedmaster ของ Omega นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าความหลงใหลที่มีต่อการเดินทางท่องไปในอวกาศของมนุษย์ โดยเฉพาะดวงจันทร์ ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่ทำให้ผมชอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

และแน่นอนว่าความชอบนี้ส่งผลต่อเนื่องไปยังนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ Speedmaster อีกด้วย โดยเฉพาะทายาทผู้แปลกแยกของคอลเล็กชั่นอย่าง Omega Speedmaster X-33 เพราะนี่คือนาฬิกาอีกเรือนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การได้แค่ไปเยือนอยู่ชายขอบที่เชื่อมต่อระหว่างโลกกับอวกาศก็ตาม

Omega Speedmaster X-33Omega Speedmaster X-33

แม้ว่าแฟนของ Speedmaster ส่วนใหญ่จะเลือกเมิน Omega Speedmaster X-33  ด้วยเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งถ้าเกี่ยวกับตัวนาฬิกา ผมเชื่อว่าเป็นเพราะเป็นความยุ่งยากในการดูแลรักษาในระยะยาว เพราะ Omega Speedmaster X-33 ใช้กลไกที่เป็นควอตซ์ 2 ระบบ คือ Analog และ Digital นั่นหมายความว่า ถ้าหากเสียพรือพังขึ้นมา ความยุ่งยาก วุ่นวาย มีตามมาแน่นอน โดยเฉพาะหน้าจอ LCD แบบดิจิตอลที่มีแนวโน้มว่าจะมีอายุการใช้งานที่ไม่นานเท่าไร

ส่วนอีกเหตุผลในแง่อื่นๆ คือ หลายคนเลือกชอบหรือสะสมนาฬิกาโดยใช้ Value ในด้านการตอบแทนในรูปแบบของเงินนำหน้า ดังนั้น Passion ที่มีต่อนาฬิกาจริงๆ พวกเขาไม่ได้ชอบนาฬิกาเพราะมันเป็นนาฬิกา แต่ชอบเพราะมันคือรูปแบบการลงทุนอย่างหนึ่ง จึงทำให้นาฬิกาควอตซ์มักจะถูกเมินอยู่เสมอ เนื่องจากหลายคนมองว่ามันไม่มีอนาคต และไม่มีทางทำกำไรให้กับพวกเขาเหมือนนาฬิกาจักรกลทั้งหลาย

แต่สารภาพดังๆ ว่า…ผมโคตรชอบนาฬิกาเรือนนี้เลย และเฝ้าติดตามหาเพื่อจะได้เป็นเจ้าของสักที

ส่วนเหตุผลเป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ และไม่มีอะไรมากไปกว่า ความสวยและเสน่ห์ รวมถึงความหลังของตัวเองที่มีต่อนาฬิการุ่นนี้

ความชอบของผมที่มีต่อนาฬิกานั้นไม่เกี่ยงว่าจะต้องเป็นจักรกลเท่านั้น สามารถเป็นอะไรก็ตามที่ถูกใจ และถ้าเป็นนาฬิกาควอตซ์ การมีความซับซ้อนในเชิงระบบ โดยเฉพาะพวกแสดงผล 2 แบบอย่าง Analog-Digital (ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเว็บนี้) ก็จะได้รับความชอบเป็นพิเศษ นั่นหมายความว่าการพัฒนาและการผลิตนาฬิกาในรูปแบบนี้ขึ้นมาสักเรือน คือ ความตั้งใจจริงๆ

Omega Speedmaster X-33Omega Speedmaster X-33

เพราะกลไก 2 ระบบในลักษณะนี้มักจะถูกออกแบบมาเพื่อนาฬิการุ่นใดรุ่นหนึ่งโดยเฉพาะ ยากที่จะแชร์หรือใช้ร่วมกับนาฬิการุ่นอื่นๆ และแตกต่างจากพวกกลไกควอตซ์แบบระบบเดียว หรือกลไกแบบจักรกลแบบธรรมดาทั่วไป (ไม่นับพวก Complication Movement นะ)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือ ต้นทุนที่ค่อนข้างสูงกว่า อันเนื่องมาจากไม่สามารถแชร์กลไกร่วมกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ได้ เหมือนอย่างที่มีคนมาถามผมว่า ทำไม Seiko Arnie Re-Issue ถึงแพงจัง ก็เพราะว่ามันไม่ได้แชร์กลไดร่วมกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ในเครือเลยและกลไก H851 ก็ถูกออกแบบมาเพื่อมันเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น

ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยเห็นนาฬิกาแบบ Ana-Digi ใช้กลไกร่วมกันสักเท่าไร อาจจะมีหลงหูหลงตาไปบ้างก็จริง แต่ถือว่าน้อยมาก

Omega Speedmaster X-33 ถือเป็นนาฬิกาสำหรับนักบินอวกาศยุคใหม่ที่ Omega ต้องการพัฒนาขึ้นเพื่อให้มีส่วนร่วมกับโครงการอวกาศในยุคหน้าของ NASA แต่ในมุมที่ผมชอบ X-33 มากนั้นคือ นาฬิกาเรือนนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อการใช้งานบนห้วงอวกาศอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเดินควานหานาฬิกาที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ก่อนนำมาทดสอบให้ตรงตามสเป็กของการใช้งานในอวกาศเหมือนตอนที่ NASA ไปเจอเข้ากับ Omega Speedmaster ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ Gemini

Omega Speedmaster X-33 เป็นการผลักดันโดยนายพล Tom Stafford ซึ่งเป็นอดีตนักบินของโครงการ Apollo X และในตอนนั้นได้นั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ในบอร์ดบริหารของ Omega ซึ่งในยุคที่นาฬิกาควอตซ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ และการแสดงผลด้วยตัวเลขดิจิตอลในยุคนั้นถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และนั่นทำให้ X-33 ถูกจับตามองในฐานะของนาฬิกาสำหรับอวกาศในยุคหน้า

Omega Speedmaster X-33 Omega Speedmaster X-33
Omega Speedmaster X-33 Omega Speedmaster X-33

ชื่อรุ่น X-33 ว่ากันว่ามาจากโครงการ NASA X-33 ซึ่งเป็นโครการผลิตยานอวกาศรุ่นใหม่ที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในการเดินทางจากโลกไปยังอวกาศเหมือนกับ Space Shuttle ซึ่งในตอนนั้นกระแสของการเดินทางออกสู่อวกาศในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การขับเคลื่อนด้วยจรวดกำลังเป็นทิศทางใหม่ของการท่องอวกาศ Omega จึงใช้ชื่อนี้สำหรับนาฬิการุ่นใหม่ของพวกเขาที่เปิดตัวในปี 1998 แม้ว่าสุดท้ายแล้วโปรเจ็กต์นี้จะถูกยุบไปในปี 2001 ก็ตาม

ส่วนชื่อรุ่น Mars Watch นั้นว่ากันว่ามีที่มาจากการเปิดตัวนาฬิกาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง Mission to Mars ได้เข้าฉายในปี 2000 เช่นเดียวกับยาน Mars Pathfinder ได้ลงจอดและสำรวจดาวอังคารในปี 1997 ทุกอย่างก็เลยถูกจับรวมกันและเขย่ามาภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอผ่านทางนาฬิกาที่มีความทันสมัยเรือนนี้ ซึ่งคำที่ปรากฏอยู่บนชิ้นงานสำหรับใช้ในการโฆษณาคือ ‘NASA took OMEGA to the MOON. One day they will take us to the MARS.’

ในช่วงแรกของการพัฒนา X-33 ถูกเรียกว่า Flightmaster ซึ่งเป็นชื่อนาฬิกาทรง Helmet รุ่นดังของ Omega ในยุค 1970 และตัวต้นแบบที่เปิดตัวในปี 1996 ก็มีชื่อว่า Flightmaster X-33 แต่สุดท้ายเมื่อเปิดตัวในวันที่ 28 มีนาคม 1998 ก็เหลือแค่ชื่อ X-33 และการเปิดตัวครั้งนั้นถือว่ายิ่งใหญ่เอาเรื่องเลย เพราะ X-33 เรือนจริงส่วนหนึ่งถูกส่งขึ้นไปยังลูกเรือของสถานีอวกาศ MIR ของรัสเซียเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้งานจริงบนอวกาศ และมีการถ่ายทอดสัญญาณภาพมายังภาคพื้นดินที่สถานีอวกาศ Johnson Space Center ของ NASA ที่ Houston ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเปิดตัวบนพื้นโลก

Omega Speedmaster X-33 Omega Speedmaster X-33

ผมเฝ้าหา X-33 แบบครบๆ มานานหลายปี และหลายต่อหลายครั้งได้เจอตัวแต่กระสุนไม่มี ส่วนตอนกระสุนมี ของก็ดันไม่มี จนกระทั่งค่าตัวของมันเริ่มขยับจากเดิมที่หาได้ในระดับครึ่งแสนไปอยู่ที่ 70,000-80,000 บาทในกรณีที่ของครบ จนในที่สุด ผมได้ตัว Gen I (Reference 3290.50) มา ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 1998 ส่วน Gen II (Reference 3291.50) เปิดตัวตามมาในปี 2001 มีความแตกต่างในหลายจุด โดยเฉพาะขอบตัวเรือน และ Pusher หรือปุ่มกดที่เปลี่ยนเป็นแบบด้าน ฝาหลังมีการสลักคำว่า ‘Flight-Qualified by NASA For Space Mission’ และมีปุ่มเรืองแสงในตำแหน่ง 12 น. และเม็ดมะยมทรงใหม่

เอาเข้าจริงๆ แม้ในใจผมอยากได้ Gen II ด้วยเหตุผลที่ว่าของใหม่น่าจะดีกว่าของเก่า แต่สุดท้ายเมื่อลองนั่งดูรายละเอียดเปรียบเทียบจากภาพแล้ว ส่วนตัวคิดว่าตัวเองคิดถูกแล้วที่เลือก Gen I เพราะเมื่อนั่งดูเปรียบเทียบในแง่ภาพรวมแล้วความลงตัว Gen I โดนใจตัวเองมากกว่า แม้ว่าจะไม่ค่อยชอบขอบตัวเรือนแบบเงาก็ตาม

Omega Speedmaster X-33 ผลิตจากไทเทเนียมทั้งตัวเรือนและสาย และมาพร้อมขนาด 42.5 มิลลิเมตร ตัวนาฬิกามีไซส์ใกล้เคียงกับ Moonwatch แต่หนากว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝาหลังที่นูนขึ้น และเซาะร่องเพื่อทำหน้าที่เป็นชิ้นส่วนในการสะท้อนเสียงเวลาที่มีการตั้งปลุก เมื่อเปรียบเทียบกับ Moonwatch อย่าง 1861 แล้ว ต้องบอกว่า X-33 ใหญ่กว่านิดหนึ่ง โดยเฉพาะความหนาที่สังเกตได้อย่างชัดเจน

แม้ว่าจะใหญ่และหนาขึ้นนิดหนึ่งแต่ในเรื่องความสบายและเวลาที่นาฬิกาวางอยู่บนข้อมือนั้นให้ความรู้สึกแทบไม่แตกต่างจาก Moonwatch แถมเบากว่ามากเพราะตัวเรือน และสายผลิตจากไทเทเนียม

นอกจากหน้าตาแล้ว จุดที่ถือว่าเป็นเหตุผลหลักในการเลือก X-33 คือ การแสดงผลผ่านทาง LCD ที่เป็นหน้าจอดิจิตอลขนาดใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นหน้าปัดในตัว มีชุดเข็มชั่วโมง นาที และวินาทีลอยอยู่ด้านบน เราไม่ค่อยได้เห็นนาฬิกาที่มากับรูปแบบนี้เท่าไรนัก ซึ่งถ้ามีส่วนใหญ่จะเป็นแค่หน้าจอเล็กๆ แทรกลงไปอย่างพวก Aerospace ของ Breitling

นาฬิการุ่นนี้มากับโมดุลในรหัส 1666 ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อนาฬิกาเรือนนี้โดยเฉพาะ ไม่เคยถูกใช้ในนาฬิกาเรือนไหนที่อยู่ในสายการผลิตมาก่อน และแน่นอนว่าความสวยนั้นมากับความเสี่ยง ที่ผมเคยได้ยินการเปรียบเปรยว่า การมี X-33 อยู่ในครอบครองนั้นเปรียบเสมือนกับการกำระเบิดเวลาเอาไว้ในมือ เพราะอย่างที่ทราบกันดี หน้าจอดิจิตอลมีข้อจำกัดเกี่ยวกับอายุการใช้งาน เช่นเดียวกับการหามาทดแทนในกรณีที่พังนั้นอาจจะเป็นงานที่หินเอาเรื่องในอนาคต เพราะไม่รู้ว่า Omega มีการสต็อคเอาไว้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนั้นอีกเรื่อง คือ การตามหา X-33 ในตอนนี้จะต้องเป็นมือสองสามสี่ห้า…บลาๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เจอกับนาฬิกาที่มีสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะเรื่องของกลไกที่ไม่โดนปล่อยทิ้งเอาไว้จนน้ำยาเยิ้ม และทำอันตรายต่อชิ้นส่วนที่อยู่ภายใน และ X-33 หลายเรือนที่อยู่ในตลาดถูกขายทิ้งเพราะปัญหานี้

สารภาพตรงๆ (อีกครั้ง) ว่าตอนที่ได้ยินนี่ทำเอาแหยงไปพักนึงเลย แต่สุดท้าย ความหลง ก็เอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้ไปได้ และคิดว่า ‘เอาวะ ไปตายเอาดาบหน้าก็แล้วกัน พร้อมกับเหตุผลสนับสนุน 2 ข้อคือ ข้อแรก ผมเสิร์ชและพบว่าในเมืองไทยมีคนรับเซอร์วิสโมดุลนี้  และข้อต่อมาคือ อย่างน้อยโมดุลนี้มีการปรับปฏิทินเอาไว้นานถึง 2099 คงไม่น่าพังง่ายๆ ถ้าดูแลดีๆ (โดยเฉพาะเรื่องของแบตเตอรี่ตอนหมดหรือใกล้หมด ซึ่งในระบบจะมีการแจ้งเตือนด้วยการเดินแบบ 5 วินาทีของเข็มวินาที) แต่อีกอย่างผมคงอยู่ไม่ถึงตอนนั้นแน่ๆ ก็คงทิ้งเอาไว้ให้เป็นภาระของลูกหลานสืบต่อไปแทน

ในแง่ของความเทพนั้น ต้องบอกว่า Calibre 1666 ถูกสร้างมาพร้อมกับความตั้งใจของ Omega ที่ต้องการใช้งานของนักบินอวกาศในระหว่างปฏิบัติงาน เพราะแต่ละฟังก์ชั่นที่อัดเข้ามานั้น นอกเหนือจากฟังก์ชั่นเบสิกอย่างเช่น ตั้งปลุก จับเวลาเดินหน้า-ถอยหลัง การบอกเวลที่ 2 บอกได้เลยว่าเกิดมาเพื่อการใช้งานในอวกาศ เช่น การจับเวลาในระหว่างปฏิบัติการ หรือ Mission Elapsed Time (MT) แต่ตั้งเวลาได้สูงสุดถึง 999 วันหรือร่วม 3 ปี รวมถึงสามารถปรับตั้งการเตือนได้ด้วย หรือ Universal Time-UT ในการแสดงเวลาสากลสำหรับอ้างอิงเวลาของโลก ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมคงแทบจะไม่อยากกดปุ่มเหล่านี้บ่อยครั้งนักเพื่อใช้งาน เพราะอายุอานามของตัวนาฬิกาค่อนข้างเยอะ

มาถึงตรงนี้สำหรับใครที่มีความหลังและชอบกับ X-33 เหมือนกับที่ผมมี คำแนะนำคือ ถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา ก็อย่ากลัวและเสียเวลากับความกังวลในเรื่องต่างๆ นานาเหมือนอย่างที่ผมเคยประสบมาก่อน เพราะเอาเข้าจริงๆ นาฬิกาเรือนนี้ก็ไม่ได้เปราะบาง หรือพังง่ายอย่างที่คิด แต่นั่นหมายความว่าคุณได้นาฬิกามือสองที่ดีและไม่ได้มีปัญหามาก่อน ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจเสียเงิน ควรใจเย็นๆ และตรวจสอบนาฬิกาเรือนนั้นให้ละเอียดเพื่อความมั่นใจ

จริงอยู่ที่ของในตลาดอาจจะมีมาไม่ค่อยบ่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีให้เห็นเลย ดังนั้น ใจเย็นๆ อย่าให้ความอยากได้เข้ามาครอบงำจนเกินไป เพราะตราบใดที่เงินยังอยู่ในมือ ผมว่ายังไงคุณยังตามหา X-33 สภาพสวยๆ ได้อย่างแน่นอน

รายละเอียดทางเทคนิค : Omega Speedmaster X-33 Gen I

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง :42.5 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 48.50 มิลลิเมตร
  • ความหนา :
  • ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน/สาย : ไทเทเนียม
  • กระจก : Sapphire
  • กลไก : ควอตซ์แสดงผล 2 ระบบรหัส Cal. 1666
  • อายุแบตเตอรี่ : 24 เดือนสำหรับการใช้งานปกติ (เช่น ตั้งปลุก กดดูไฟ) และ 36 เดือนในกรณีที่ไม่ใช้งานระบบอะไรเลย
  • การกันน้ำ : 30 เมตร