หลังรอกันนานถึงเกือบครึ่งปี ในที่สุดผลงานที่ 3 ของแบรนด์ Nomad อย่างเจ้า 1966 หรือที่เรียกว่า 66 ก็มาถึงมือแล้วกับแพ็กเกจสุดอลัง สวยสะดุดตา และสเป็กสุดคุ้มค่า
Nomad 1966 อีกผลงานที่ไม่ธรรมดาจากแบรนด์ไทย
- งาน Homage ฝีมือคนไทยกับตัวเรือนบรอนซ์
- ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตรกลไก Seiko
- ผลิตเพียง 100 เรือน ราคา 7,700 บาท (ณ วันที่รับจอง)
หลังจากที่สัมผัสกับเจ้า 6105 ตัว Homage แล้ว ผมยังติดตามผลงานของคนทำนาฬิกาสัญชาติไทยผ่านแบรนด์ Nomad อย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ได้อุดหนุนทุกเรือน แต่อย่างน้อยตอนนี้มีออกมา 3 รุ่นแล้ว ผมก็จัดการสอยมาแล้วสอง โดยที่เข้ามาล่าสุดคือ Nomad 1966 หรือ 66 ที่เพิ่งจะเริ่มมีการส่งมอบกันเมื่อช่วงต้นปี 2019 กันนี่เอง
เอาเข้าจริงๆ งานนี้เข้าตำรา ‘รักแล้วรอหน่อย’ เพราะหลังจากที่ชำระเงินมัดจำและสั่งจองกัน สมาชิกทั้งหลายก็ต้องนั่งรอกันร่วมครึ่งปี ถามว่าทนกันไหวไหม ? ตอบเลยว่ายังไหวอยู่ แม้ว่าในช่วงก่อนที่จะถึงวันส่งมอบร่วมเดือน จะมีบรรดาสมาชิกท่านอื่นๆ มายั่วใจด้วยการนำตัวต้นแบบมาขึ้นข้ออวดโฉมให้เห็นในกลุ่ม Homage Thai อยู่เป็นประจำก็ตาม
Nomad 66 เป็นผลิตที่ 3 ของแบรนด์ Nomad ที่ทางพี่โหน่ง Nirut Jeenyu สร้างสรรค์ขึ้นมา และตามความเข้าใจของผมเท่าที่ตามอ่านโพสต์ใน Facebook ของกลุ่ม Nomad ถูกวางให้เป็นนาฬิกาตัวเรือนบรอนซ์ ซึ่งในปี 2019 มีแผนการผลิตออกมาอีก 3 รุ่นเป็นอย่างน้อย โดยที่ไม่รวมนาฬิกานักบินที่มีการปล่อยภาพตัวต้นแบบและเข้าสู่แผนการผลิตแล้ว ซึ่งแบรนด์ Nomad จะเป็นการดีไซน์จะเป็นการผสมผสานจุดเด่นของนาฬิการุ่นคลาสสิกของแบรนด์อย่าง Omega, Breitling และ Seiko เข้าด้วยกัน
ถามว่าซีเรียสไหม ? กับดีไซน์ที่บางคนอาจจะตั้งแง่ว่าเหมือนกับการก็อปปี้ บอกเลยว่าเท่าที่เป็นลูกค้ามา 2 เรือนและรวมกับเรือนที่ 3 ซึ่งสั่งจองไว้แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินมัดจำ (555) ผมว่านั่นคือการเข้าใจผิดนะครับ เพราะเท่าที่ตามข่าวสารและดูจากแนวทางที่ถูกเปิดเผยออกมาจากภาพต้นแบบ มันเป็นการนำสิ่งเด่นๆ ของนาฬิกาแต่ละรุ่นมาผสมผสานกับงานดีไซน์ต้นทางที่ผู้ผลิตวางเตรียมเอาไว้แล้ว เพื่อให้ได้ผลงานที่แปลกใหม่และมีแค่กลิ่นอายบางๆ ของแบรนด์เหล่านี้ผสมผสานเข้ามาเท่านั้น…ตรงนี้แหละคือสิ่งที่ผมชอบและถูกใจมากกับ Nomad และผลงาน Homage รุ่นอื่นๆ ของพี่โหน่ง แถมตัวเองก็เริ่มเบื่อนาฬิกาแบรนด์เนมนิดหน่อยแล้ว
ที่สำคัญคือ มีราคาที่สามารถจับต้องได้ และถ้าเปรียบเทียบกับพวก Homage ของต่างชาติแล้ว ราคาถูกเกือบเท่าตัวในสเป็กที่ใกล้เคียงกัน และดีไซน์ก็ถูกใจ (ผม) มากกว่า เอาเป็นว่าแค่เปิดจองในแต่ละรอบของแต่ละรุ่น แทบจะเรียกว่าพิมพ์จองกันมือระวิง เท่านี้ก็พอจะเห็นอะไรบางอย่างในการตอบรับที่มีต่อแนวทางของแบรนด์ได้ในระดับหนึ่ง
กลับมาที่ Nomad 66 ตอนแรกที่ได้เห็นภาพร่างซึ่งถูกนำมาเปิดเผยนั้น สารภาพเลยผมยังมีความรู้สึกเฉยๆ นะ อาจจะเพราะตัวเรือนที่เป็นแบบมาตรฐานไม่ได้มีอะไรเป็นจุดเด่นเหมือนกับรุ่นแรกอย่าง 6105 แถมหน้าปัดก็ดูแล้วเป็นพวก Sunbrust แบบเหลื่อมและเล่นกับแสงที่มาตกกระทบที่ผมไม่ค่อยถูกจริตเท่านั้น แต่นาฬิกาเรือนนี้ดันมีอยู่ 2 จุดที่ทำให้ผมกดแป้นพิมพ์จอง นั่นคือ รูปทรงของเข็ม และ Bezel ที่เป็นบรอนซ์ โดยเฉพาะประเด็นหลังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างมาก
เพราะอะไร ?
ผมตามหานาฬิกาที่มี Bezel บรอนซ์มานานหลังจากที่ได้เห็นภาพในอินเตอร์เนตของนาฬิกาแบบบรอนซ์ลักษณะนี้หลังจากที่มี Patina ขึ้นเต็มๆ …มันสวยจับใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็น Bezel แบบตัวเลขเซาะร่องลงไปซึ่งเวลาเกิดคราบขึ้นมาแล้วสวยมาก และเคยคิดจะกดสั่งเจ้า Sharkdiver ของ Helson อยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่ติดตรงที่ราคามันทารุณกระเป๋าเงินไปหน่อย
สุดท้ายก็มีคนทำให้ผมสมหวังแบบสบายกระเป๋าสักที
ขณะที่เข็มแบบแท่งๆ ของ Nomad 66 นี่แหละ ดูสวยและแปลกตา ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก แถมการแยกความแตกต่างระหว่างเข็มชั่วโมงและเข็มนาทียังมีเอกลักษณ์ นอกจากจะใช้เรื่องความยาวของเข็มเป็นตัวบอกแล้ว อีกจุดคือ เข็มชั่วโทงจะมีการตีเส้นแบ่งกึ่งกลางเอาไว้ ดังนั้นเวลาอยู่ในที่มืดหรือดำน้ำ คุณจะสามารถมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
ตามข้อมูลที่ได้มานั้น Nomad 66 ใช้บรอนซ์แบบ CuSn8 ซึ่งผลิตจากบรอนซ์ที่มีส่วนผสมของทองแดงและดีบุกเหมือนกับ Nomad 6105 ว่ากันว่ามีคุณภาพที่ค่อนข้างดีและสามารถทำให้เกิด Patina ค่อนข้างสวย แถมยังมาเร็ว แต่ปรากฏว่าเมื่อเรือนจริงมาถึงมือ การทำปฏิกิริยากับเหงื่อและอากาศของ Nomad 66 ดูจะช้ากว่าที่เคยมีประสบการณ์กับ 6105 เรียกว่าขึ้นข้ออยู่ร่วมชั่วโมงแล้วก็ยังเงาวิ้งๆ อยู่เลย สุดท้ายผมต้องใช้เวลานานร่วม 3 วันกว่าที่นาฬิกาจะเริ่มมีคราบและร่องรอยของความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นให้เห็น
Nomad 66 มากับตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มิลลิเมตร ซึ่งถือเป็นขนาดที่มาตรฐานชายไทยอย่างผมค่อนข้างชอบ เพราะไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป แถมยิ่งมีขายสายที่ค่อนข้างยาวเข้ามาช่วยด้วย ทำให้ค่า Lug-to-Lug มีตัวเลขในระดับ 53 มิลลิเมตรถือว่าจบบนข้อมือไซส์ 7 นิ้วของผม ส่วนคนที่มีข้อมือเล็กลงไปแต่ไม่เกิน 6.5 นิ้วอาจจะก็น่าจะยังรับไหว
เอาเข้าจริงๆ ตอนที่นาฬิกายังไม่คล้ำ เราจะได้เห็นการขัดหยาบสลับกับชัดเงาบนตัวเรือนอย่างชัดเจน บวกกับฝาหลังแบบขัดเงาและมีลวดลายของอะไรสักอย่าง (ผมดูแล้วเหมือนกับปลาหมึกกำลังพันหมกดำน้ำของนักดำน้ำยุคเก่าๆ) ดูแล้วสวยดี เสียดายการให้ข้อมูลบนฝาหลังน้อยไปหน่อย บอกแค่จำนวนการผลิตเท่านั้น ซึ่งส่วนตัว ไหนๆ จะสร้างแบรนด์กันขนาดนี้ และใส่ใจการออกแบบด้านหน้าให้ดูดีแล้ว ผมว่าใส่ใจการออกแบบด้านหลังให้มากขึ้นก็จะดียิ่งขึ้นครับ ส่วนใครที่กังวลฝาด้วยความที่เป็นฝาหลังผลิตจาก Stainless Steel แบบขัดเงาแล้วจะเกิดรอยง่าย เท่าที่ใช้มาร่วมเดือน (แบบใส่บ้างเก็บบ้าง) นอกจากคราบเหงื่อที่เกิดขึ้นแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นร่องรอยอะไรปรากฏขึ้นมาเลย
ตัว Bezel ในงานชุดนี้มีการผลิตออกมา 2 แบบคือ แบบมีฟังก์ชั่นตามสไตล์ในการดำน้ำ และอีกแบบจะเป็นตัวเลขแสดงตำแหน่งชั่วโมง ซึ่งการเปลี่ยนสามารถทำได้ง่ายโดยใช้ปลายมีดแหลมๆ งัดขึ้นมา แต่ผมก็ยังไม่ได้ลองนะครับ ตอนที่สั่งก็รบกวนให้พี่โหน่งจัดการเปลี่ยนมาเลยตั้งแต่แรก เพราะส่วนตัวชอบ Bezel ที่มีสเกลสำหรับใช้ในการดำน้ำมากกว่า
หน้าปัดสีเขียวเข้มแบบ Sunburst มีเหลื่อมและเล่นกับแสง หลายคนอาจจะชอบ แต่ส่วนตัวแล้วผมเฉยๆ ผมชอบหน้าปัดแบบด้านๆ มากกว่า หรือถ้าจะมีลวดลายก็ขอแบบผิวด้านๆ เช่นกัน ตอนที่เห็นภาพต้นแบบ ยังคิดเลยว่าถ้า Nomad 66 เปลี่ยนหน้าปัดสีเขียวโทนอ่อนกว่านี้ และไม่ได้เป็นแบบเหลื่อมแสง พร้อมกับคงรายละเอียดของข้อความบนหน้าปัดเอาไว้ประมาณนี้ น่าจะโอเคกว่า (ในมุมของผม)
ชุดเข็มเป็นสีทองดูลงตัวและตัดกับสีเขียวได้อย่างโดดเด่น แต่หลักชั่วโมงที่เป็นแท่งเหลี่ยมทรงผอมๆ อาจจะดูลงตัวในขณะที่ใช้งานปกติ แต่เมื่อต้องอยู่ในที่มืดและใช้งานแบบอาศัยพรายน้ำในการทำงานด้วยแล้ว ผมว่ามันดูค่อนข้างยากกว่าการใช้หลักชั่วโมงแบบทรงกลม หรือทรงสี่เหลี่ยมแต่มีพื้นที่กว้างกว่านี้ เพราะพื้นที่ในการเรืองแสงมันไม่กว้าง ส่วนกระจก Sapphire ทรงโดมที่มีลักษณะเป็นเลนส์นูนในตัวนั้น ดูสวยและเข้ากันได้เป็นอย่างดี เสียอย่างเดียว ถ่ายภาพแบบไม่ให้เกิดการสะท้อนบนกระจกยากมาก
นอกจากนั้นอีกเรื่องที่ผมชอบมากแต่ไม่ทราบตั้งแต่ตอนจองคือ Nomad 66 มากับพรายน้ำสีฟ้า โอว… อย่าหาว่าผมบ้าหรือเพี้ยน เพราะพรายน้ำสีฟ้ามีให้เห็นกันเยอะแยะ นั่นมันก็จริง แต่ก็ไม่เยอะเท่ากับพรายน้ำสีเขียว ในมุมมองผมมันก็เลยถือว่ามีความพิเศษ แถมยังอยู่ในกลุ่มนาฬิกา Homage ด้วยแล้ว ผมว่ายิ่งหายากเข้าไปอีก
สำหรับสายยางแบบ Tropical ที่เป็นสายดั้งเดิมจากโรงงานนั้น สวยและดูดีมาก แต่ติดอย่างเดียวตรงที่ความถี่ของรูสายนาฬิกาไม่เยอะ และทำให้การใส่แบบพอดีๆ บนข้อมือเกิดขึ้นได้ยาก เรียกว่าสำหรับผมแล้วเวลาขึ้นข้อถ้าไม่แน่นไป ก็หลวมไป ดังนั้น ก็เลยต้องหาสายทดแทนไซส์ 22/22 มาจัดการแก้ปัญหานี้ เท่านี้ก็เป็นอันจบ เพียงแต่คนที่ไม่ได้สั่งบัคเคิลแบบบรอนซ์รอเตรียมเอาไว้อาจจะต้องทนใส่แบบตัวเรือนกับบัคเคิลคนละสีไปก่อน เพราะตัวบัคเคิลบรอนซ์ที่มากับสาย Tropical นั้นมีขนาดแค่ 20 มิลลิเมตรเท่านั้น
กลไกอัตโนมัติที่ถูกจับใส่ในตัวนาฬิกา เชื่อว่าเราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเป็น NH35A ซึ่งแฟนๆ นาฬิกา Homage รวมถึงพวก Microbrand คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะพักหลังเริ่มได้รับความนิยมในการนำมาใช้กับนาฬิกานี้กันเยอะขึ้นกว่าแบรนด์ Miyota ของ Citizen ส่วนแฟน Seiko ก็คุ้นเคยกับกลไกนี้กันมาแล้วกับนาฬิกาหลายรุ่นของพวกเขา เพราะเป็นรหัส 4R35 ที่ใช้อยู่ใน Seiko Samurai กลไกนี้เดินด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 3 Hz สำรองพลังงานได้ 41 ชั่วโมง มีฟังก์ชั่นแฮ็คเข็มวินาที และขึ้นลานมือ ส่วนการขึ้นลานผ่านโรเตอร์นั้นทำได้แบบ 2 ทาง หรือ Bi-Directional ดังนั้น ความทนทานและการซ่อมบำรุงไม่ต้องห่วงตรงจุดนี้
มาถึงตรงนี้น่าจะบิลด์อารมณ์ใครหลายคนให้อยากสัมผัสกับเข้า Nomad 66 กันบ้าง แต่คงต้องบอกว่า ต้องไปถามในกลุ่ม Homage Thai ใน Facebook กันเอาเองนะครับ เพราะว่านาฬิกาเรือนนี้เปิดจองกันมาตั้งแต่กลางปี 2018 และก็ไม่แน่ใจว่าจะยังพอมีเหลือกันอยู่หรือเปล่า
ส่วนค่าตัวคือ 7,700 บาท มาพร้อมกล่องไม้ทรงเหลี่ยมที่หลายคนแอบแซวว่าเหมือนกล่องใส่ตะเกียบตามร้านอาหาร และ Bezel สำรองอีก 1 ชุด ผมว่าถือว่าคุ้มค่ามากกับการที่เฝ้ารอกันมานานเกือบครึ่งปี และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคนทำได้เป็นอย่างดี ตอนนี้เตรียมหยอดกระปุกเพื่อจ่ายอีกเรือนที่จองเอาไว้ และเท่าที่ดูตามตารางการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ที่เปิดเผยออกมา ดูท่าปีนี้ ผมคงไม่ได้หยุดพักการซื้อนาฬิกาตามที่ตั้งใจเอาไว้อย่างแน่นอน
ข้อมูลทางเทคนิค : Nomad 1966 / Nomad 66
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14 มิลลิเมตร (โดยประมาณ)
- Lug-to-Lug : 53 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
- สาย : ยางแบบ Tropical Band และบัคเคิล Bronze
- กระจก : Sapphire แบบ Double Dome เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- กลไก : Seiko NH35A
- ความถี่ : 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง
- ทับทิม : 24 เม็ด
- สำรองพลังงาน : 41 ชั่วโมง
- ความเที่ยงตรง : -20 ถึง +40 วินาทีต่อวัน
- ประทับใจ : ความคุ้มค่าในด้านราคา ดีไซน์ตัวนาฬิกา สเป็ก และแพ็คเกจ
- ไม่ประทับใจ : สีหน้าปัด
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/