เราเข้าสู่การซื้อขายนาฬิกาผ่านทางออนไลน์ และแน่นอนว่านั่นทำให้เราแทบจะไม่มีโอกาสได้ลองทาบข้อก่อนที่จะตัดสินใจ และถ้าคุณคิดที่จะซื้อแบบไม่ต้องลอง การรับทราบข้อมูลอื่นๆ นอกจากเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือ Diameter แล้ว Lug to Lug หรือ ความยาวของตัวนาฬิกาจากปลายขาสายด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ก็มีความสำคัญอย่างมาก
Lug to Lug อีกตัวเลขที่ควรสนใจก่อนซื้อนาฬิกา
- Lug to Lug คือการวัดความยาวของตัวนาฬิกาจากปลายขาสายด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
- ตัวเลขชุดนี้จะมีความสอดคล้องกับความกางหรือไม่กางเมื่ออยู่บนข้อมือ
- หลายคนเมินที่จะถามตัวเลข Lug to Lugเพราะคิดว่าไม่มีความสำคัญ
เรื่องหนึ่งที่ผมมักจะบอกบรรดาเพื่อนๆ เสมอเวลาที่จะต้องหาข้อมูลเพื่อซิ้อนาฬิกาสักเรือนคือ อย่าดูแค่เส้นผ่านศูนย์กลาง หรือ Diameter ของนาฬิกาเพียงอย่างเดียว ให้ดูตัวเลขอีกส่วนประกอบเข้าไปด้วย นั่นคือ ความยาวรวมขาสายนาฬิกา หรือ Lug to Lug ของตัวนาฬิกา เพราะตัวเลขตรงนี้จะส่งผลโดยตรงกับความรู้สึกหรือสภาพที่เกิดขึ้นเวลาที่นาฬิกาเรือนนั้นๆ ถูกวางอยู่บนข้อมือของคุณว่า ดูแล้ว โอเค เต็มข้อ หรือว่ากาง กันแน่
โอเค…ประเด็นนี้ผมมองว่ามันเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่ง และกำลังจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลนะหรือ…ง่ายๆ สั้นๆ ก็เพราะเราซื้อนาฬิกาผ่านโลกออนไลน์กันมากขึ้นนะสิ
จริงอยู่ที่หลายคนอาจจะยังชอบเดินไปที่เคาน์เตอร์ บูติก หรือ A.D. ของแบรนด์นาฬิกาตามห้างสรรพสินค้าอยู่เหมือนเดิม เพื่อลองดูตัวจริงๆ และลองทาบบนข้อมือ แต่ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าช่องทางออนไลน์มีการขยายตัวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก และทำให้บางครั้งคนเราเลือกซื้อของผ่านช่องทางนี้โดยที่บางครั้งยังไม่เคยเห็นตัวจริง หรือลองทาบบนข้อมือมาก่อนเลย ดังนั้น การมีข้อมูลเหล่านี้มาช่วยประกอบการตัดสินใจ สามารถทำให้พอประเมิน (ในจินตนาการ) ได้ว่า เมื่อนาฬิกาเรือนนั้นๆ จะเป็นอย่างไรเมื่อถูกสวมใส่อยู่บนข้อมือ
ผมไม่ปฏิเสธนะว่าขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือ Diameter ยังมีความสำคัญ (และยังเป็นชุดตัวเลขอันดับแรกๆ บนตารางสเป็กนาฬิกาที่ผมมักจะดูก่อน) แต่ตัวเลขอีกชุดอย่าง Lug-to-Lug ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ประเด็นคือ มีแทบนับคนได้ที่สนใจและถามไถ่ตรงนี้ เพราะส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่เส้นผ่านศูนย์กลาง หรือ Diameter มากกว่า
ว่าแต่ว่า…ความยาวรวมขาสายนาฬิกา หรือ Lug to Lug คืออะไร ?
Lug-to-Lug เป็นการวัดความยาวจากปลายของขาสายด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งของขาสาย และตัวเลขตรงนี้จะมีผลต่อความรู้สึกว่าเต็มข้อ หรือไม่เต็มข้อเวลาที่นาฬิกาวางทาบอยู่บนข้อมือ เพราะถ้าเมื่อคุณลองยกข้อมือขึ้นมาและมองลงไปนั้น ตัวเลขเส้นผ่านศูนกลาง หรือ Diameter ของหน้าปัด จะสัมพันธ์กับพื้นที่ในแนวนอนที่พาดจากซ้ายไปขวาบนข้อมือ ส่วน Lug-to-Lug จะเป็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการวัดจากบนลงล่างของข้อมือ
มีหลายครั้งเหมือนกันที่ ผมซื้อนาฬิกาจากออนไลน์โดยที่ดูแค่ตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว และคิดว่าไซส์ 42 มิลลิเมตร น่าจะโอเคเมื่อยู่บนข้อมือของตัวเอง แต่ปรากฏว่า เส้นผ่านศูนย์กลางได้ แต่รู้สึกว่ามันล้นๆ ไปหน่อย เพราะว่าเป็นนาฬิกาที่ขาค่อนข้างยาว ทำให้ตัวเลข Lug-to-Lug เยอะ ซึ่งตามปกติแล้ว กับข้อมือประมาณ 7 นิ้วของผม เมื่อเอาไม้บรรทัดวางทาบแล้ว ตัวเลขของ Lug-to-Lug ที่เหมาะสม และใส่แล้วดูลงตัวมากที่สุด คือ บวกลบ 50 มิลลิเมตร ถ้าเกินจากนั้นจะเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันกางๆ หรือล้นข้อ
และถ้าคุณอยากรู้ว่าข้อมือของคุณเหมาะกับ Lug-to-Lug เท่าไร ก็ไม่ยุ่งยาก เอาไม้บรรทัดวางทาบได้เลย และลองประเมินเอาตัวเลขประมาณไหนถึงจะดูสวยเวลาที่สวมใส่บนข้อมือ
ส่วนใครที่อยากทราบว่า ข้อมือแต่ละขนาด เหมาะกับนาฬิกาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง และ Lug-to-Lug ขนาดไหน ก็ลองดูจากตารางนี้ได้
Dia เล็กสุด (มม.) | Lug-Lug สั้นสุด (มม.) | ขนาดข้อมือ (นิ้ว) | Lug-Lug ยาวสุด (มม.) | Dia ใหญ่สุด (มม.) |
28 | 34 | 5 | 44 | 36 |
29 | 35 | 5.5 | 46 | 38 |
30 | 36 | 6 | 48 | 40 |
31 | 38 | 6.5 | 50 | 42 |
32 | 40 | 7 | 52 | 44 |
34 | 42 | 7.5 | 54 | 46 |
36 | 44 | 8 | 56 | 48 |
คราวนี้ถ้าซื้อนาฬิกาสักเรือน ยังไงก็อย่าลืมดูตัวเลขตรงนี้กันด้วยนะครับ
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/