เห็นหน้าตาของปุ่มที่ยื่นออกมา หรือบางเรือนก็อยู่ด้านข้างตัวเรือนแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร ซึ่งคำตอบคือ Helium Release/Escape Valve แน่นอนว่าหลายคนอาจจะคุ้นหูกับชื่อนี้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะไม่รู้เลยว่า มันเกิดมาเพื่อทำอะไรและเกี่ยวข้องกับการดำน้ำขนาดไหน
Helium Release Valve เกิดมาเพื่อการใช้งานสุดขั้ว
จะว่าไปแล้วมันก็น่าแปลกใจเหมือนกันนะครับ ในยุคหนึ่งที่ผมชอบนาฬิกาดำน้ำมากๆ ปัจจัยหนึ่งที่ตัวเองมักจะเอามาพิจารณาประกอบร่วมด้วยกับปัจจัยอื่นๆ ในการซื้อนาฬิกาดำน้ำสักเรือน นั่นคือ ‘มันมี Helium Release Valve (ซึ่งต่อไปนี้เราจะเรียกว่า Helium Valve) ติดมาให้ด้วยหรือเปล่า ?’
สารภาพเลยนะครับว่าตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่า Helium Valve มีเอาไว้ทำอะไร แต่ดูแล้วรู้สักว่ามันเป็นส่วนที่ช่วยทำให้นาฬิกาดำน้ำเรือนนั้นเท่ขึ้นอีก 2 ระดับ รวมถึงกับความรู้สึกที่ว่า ถ้าไม่มีคือของมาไม่ครบ เพราะคิดว่าในเมื่อเป็นนาฬิกาดำน้ำแล้ว ก็ต้องมีชิ้นส่วนนี้ติดมาด้วยสิ…จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ ความคิดก็ได้เปลี่ยนไปกับบทสรุปที่ว่า ‘มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นไร’
ก่อนจะเล่าเรื่องราวต่อไป เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า Helium Valve ของนาฬิกามีหน้าที่อะไร ? แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องการเรื่องความลึกของน้ำ แต่ไม่ถึงกับเกี่ยวข้องกับการดำน้ำโดยตรงแบบ 100%
ถ้าคุณมีวัยนำหน้าด้วยเลข 4 น่าจะจำภาพยนตร์เรื่อง The Abyss ของ James Cameron ได้ มันเป็นเรื่องราวของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาเรื่องใต้ทะเลซึ่งอาศัยอยู่ในฐานปฏิบัติการใต้ทะเลลึก และไปเจอเข้ากับ Alien ที่อยู่ใต้ท้องทะเล โดยในปัจจุบัน นอกจากการดำน้ำแบบปกติที่เรารู้จักอย่าง Scuba หรือ Snorkeling แล้ว ยังมีกลุ่มคนที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำนานหลายวันและออกไปทำงานใต้ท้องทะเลน้ำระดับนี้ที่ความลึกมากกว่า 60 เมตรเพื่อทำงานก่อสร้างหรือวิจัยท้องทะเลลึก
เราเรียกว่าเป็นการดำน้ำในแบบ Saturation Diving ตรงนี้แหละที่เริ่มเกี่ยวข้องกับ Helium Valve ละ
เหตุผลก็เพราะว่าอากาศในห้องปฏิบัติการ หรือ Chamber หรือ Diving Bell ที่ถือเป็นฐานปฏิบัติการใต้น้ำที่อยู่ในระดับความลึกมากๆ นั้น แม้ว่าจะมีการปรับแรงดันภายในห้องแล้ว แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าปกติ ดังนั้น จึงมีการใช้ก๊าซเฉื่อยอย่าง Helium หรือ Hydrogen ผสมกับ Oxygen แทนที่จะเป็น Nitrogen ผสมกับ Oxygen เหมือนอากาศทั่วไป ตรงนี้ก็เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการหายใจภายใต้ห้องที่มีแรงดันมากๆ ซึ่งความเบาของก๊าซ Helium จะไม่ทำให้เกิดฟองอากาศในเส้นเลือด-เนื้อเยื่อ และสลายตัวออกจากร่างกายได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของโมเลกุลของ Helium ที่เล็กกว่าก๊าซอื่นๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เมื่อคุณอยู่ในห้องนั้นไปนานๆ โมเลกุลเหล่านี้ก็จะเล็ดรอดและแทรกซึมเข้าไปสะสมอยู่ภายในนาฬิกา ซึ่งถ้าคุณยังอยู่ภายใต้บรรยากาศของฐานปฏิบัติการใต้น้ำที่มีแรงดันสูงต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่จะเกิดเรื่องก็ตอนขึ้นสู่ผิวน้ำนี่แหละ
ที่ว่าจะเป็นเรื่องก็เพราะว่า ก๊าซ Helium ที่เล็ดรอดเข้าไปอยู่ในตัวนาฬิกาจะมีการขยายตัวโดยจะสัมพันธ์กับระดับแรงดัน ซึ่งตัวแรงดันเองก็จะสัมพันธ์กับระดับความลึก ความหมายคือ ยิ่งคุณข้าใกล้ผิวน้ำมากเท่าไร ระดับแรงดันยิ่งลดลง และนั่นทำให้ก๊าซ Helium ที่อยู่ในตัวนาฬิกามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลคือ มันพองตัวและสามารถดันกระจกกระเด็นหลุดออกมาจากตัวเรือน หรือบางครั้งอาจจะแตกคาตัวเรือนเลยก็ได้
ตรงนี้แหละที่ Helium Valve จะเข้ามาทำหน้าที่ ในการระบายก๊าซ Helium ที่อยู่ในตัวเรือนออกทาง Release Valve ที่เป็นแบบทางเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้กระจกกระเด็นหลุดออกมา ตัว Helium Valve ก็จะมีอยู่ 2 แบบคือ ระบายเองอัตโนมัติ ซึ่งคุณจะเห็นได้จากด้านข้างตัวเรือนที่จะเป็นวาล์วกลมๆ เล็กๆ กับอีกแบบคือ คุณต้องจัดการเอง คือ มือหมุนคลายออกมาจนสุดในขณะที่กำลังขึ้นสู่ผิวน้ำ ซึ่งนาฬิกาที่ใช้ Helium Valve แบบแมนนวลเท่าที่เห็นอยู่ในตลาดก็คือ Omega Seamaster ซึ่ง Helium Valve แบบนี้จะเป็นปุ่มติดตั้งอยู่ที่บริเวณ 10 นาฬิกาของตัวเรือน
จุดเริ่มต้นของ Helium Valve เกิดขึ้นราวๆ ปี 1967 โดย Doxa และ Rolex ได้เริ่มต้นพัฒนานาฬิกาสำหรับใช้ในกลุ่มคนที่จะต้องลงไปใช้ชีวิตใต้ท้องทะเล โดย Rolex ซึ่งมีความแนบแน่นกับบริษัทฝรั่งเศสที่ชื่อ COMEX ได้ประดิษฐ์วาล์วปล่อยก๊าซออกมา และทำงานอัตโนมัติโดยจะติดตั้งใน Sub 200T ที่เปิดตัวในปี 1968 หลังจากนั้น Helium Valve ก็ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตนาฬิกาดำน้ำ และกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่จะต้องมีในกลุ่มนาฬิกาที่เกิดมาเพื่อการใช้งานใต้ท้องทะเล
จะเห็นได้ว่า Helium Valve ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นมาเพื่อการใช้งานสุดโหดภายใต้เงื่อนไขที่อยู่ใต้ท้องทะเล ส่วนพวกดำน้ำดูปะการังอย่างเราๆ ท่านๆ มีหรือไม่มีไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอีกต่อไป
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/