Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono ตามฝันสำเร็จกับนาฬิกานักบินฟังก์ชั่นเทพ

0

นาฬิกาที่ผมแอบมองและเล็งเอาไว้ตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ในที่สุดก็ได้มาอยู่ในครอบครองจนได้ สำหรับ Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

- Advertisement -

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono ตามฝันสำเร็จกับนาฬิกานักบินฟังก์ชั่นเทพ

  • นาฬิกาในกลุ่มนักบินของ Hamilton ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015

  • ใช้กลไก H-41e ที่เป็นควอตซ์ พร้อมความสามารถในการแสดงเวลาแบบ Worldtime หรือการจับเวลา

  • มีทั้งสายหนัง สายยาง และสายสตีล โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 45,600 บาท

เมื่อเกือบๆ 7 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมกำลังวางแผนสร้างเว็บ Ana-Digi.com ขึ้นมา ช่วงนั้นถือว่าผมติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของวงการนาฬิกามากถึงมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะต้องการดูเว็บข่าวต่างๆ เช่นเดียวกับมองหาแหล่งข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการทำต้นฉบับ แน่นอนว่านั่นทำให้ผมได้เจอกับนาฬิกาเรือนหนึ่ง…นาฬิกาที่ผมคิดว่าเทพโคตรๆ แม้ว่าจะใช้กลไกควอตซ์ และเวลาผ่านไป จนเมื่อไม่นานมานี้ ในที่สุดผมก็ได้มันมาครอบครอง นอกจากจะตอกย้ำความคิดเดิมในเรื่องความเทพของมัน เจ้า Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono ยังมีความซับซ้อนมากกว่าที่ผมคิดเอาไว้ในตอนแรกเสียอีก

Hamilton เปิดตัว Khaki Aviation Worldtimer Chrono ในปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่เว็บ Ana-Digi.com จะเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการประมาณเกือบ 2 ปี และสิ่งที่ตรึงความรู้สึกของผมนั้นไม่ใช่เรื่องของการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก แต่เป็นกลไกควอตซ์รหัส H-41e ของ Hamilton ที่ผมคิดว่า แจ่มและมีลูกเล่นชนิดที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถดึงดูดความสนใจผมได้

  เรื่องของการนำฟังก์ชั่น Worldtimer ที่มีชื่อของเมืองต่างๆ ทั่วโลกทั้ง 24 เขตโซนเวลาวางอยู่รอบ Insert ด้านในตัวเรือนหรือบนขอบตัวเรือนถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรในแวดวงนาฬิกา แต่สิ่งที่ผมชอบกลไก H-41e ที่อยู่ใน Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono คือ การที่มันสามารถสลับฟังก์ชั่นในการทำงานได้ เพียงแค่กดปุ่ม Mode ที่อยู่ในตำแหน่ง 10 นาฬิกาของตัวเรือนค้างเอาไว้ 2 วินาที เพื่อสลับฟังก์ชั่นไปมาจากการบอกเวลาที่ 2 มาเป็นการจับเวลา

ในแง่ของการทำงาน นาฬิกาเรือนนี้ไม่ได้รวม 2 ฟังก์ชั่นเอามาโชว์บนหน้าปัดเดียวกันให้ดูเยอะแยะไปหมด แต่คุณสามารถสลับการใช้งานของมันได้ด้วยการทำตามที่บอกข้างต้น และถ้าอยากรู้ว่าในตอนนี้นาฬิกาอยู่ในฟังก์ชั่นไหน นอกจากสังเกตที่เข็มจับเวลาที่จะต้องอยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกาเมื่ออยู่ในโหมด Chronograph แล้ว ก็ดูจากแถบสีเหลืองสลับดำบนหน้าจอย่อยใกล้ตำแหน่งเลข 2 ที่จะบอกว่านาฬิกาเรือนนี้อยู่ในโหมด Chrono (จับเวลา) หรือ Timer (บอกเวลาทั่วโลก)

Hamilton ออกแบบนาฬิกา Khaki Aviation Worldtimer Chrono ภายใต้การทำงานร่วมกับ Nicolas Ivanoff นักบินผาดโผนที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ ทั่วโลก และยังเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Hamilton ในระหว่างปี 2005-2017 ดังนั้นเชื่อมั่นได้เลยว่านาฬิกาถูกออกแบบและมีฟังก์ชั่นที่เพียบพร้อมตามความต้องการของนักบิน ส่วนดีไซน์ได้รับอิทธิพลมาจากรุ่นพี่ที่เปิดตัวในปี 2014 อย่าง Khaki Aviation X-Wind ซึ่งรายละเอียดถูกสะท้อนผ่านมายังรูปทรงโดยรวมของตัวเรือน รูปทรงของขอบตัวเรือน (ที่ในรุ่นนี้เป็นแบบจับเวลาถอยหลังและหมุนได้ 2 ทิศทาง) หรือแม้แต่ฟอนต์ตัวเลขบนหลักชั่วโมงในหน้าปัด

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

สำหรับหน้าปัดของ Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่าค่อนข้างรก เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียด ในตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะมี Small Second ของเวลาหลัก หน้าปัดตำแหน่ง 10 นาฬิกาจะมี 2 หน้าที่แล้วแต่โหมด ถ้าอยู่ใน Chrono Mode อันนี้จะใช้จับเวลาสูงสุดคือ 120 นาที หรือ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ใน Timer Mode จะบอกช่วงเวลากลางวัน หรือกลางคืนของเมืองที่คุณเลือกสำหรับบอกเวลาที่ 2 ไม่ใช่สำหรับเวลาบนเข็มหลัก

อีกสิ่งที่ค่อนข้างงง คือ เข็ม เอาแค่ตรงชุดเข็มหลักก็มีถึง 4 เข็มแล้ว คือ เข็มนาที เข็มชั่วโมง อีก 2 เข็มคือ ถ้าอยู่ใน Chrono Mode จะทำหน้าที่บอกเวลาในส่วนนาที และอีกเข็มเป็นวินาทีสำหรับการจับเวลา แต่ถ้าอยู่ใน Time Mode จะเป็นเข็มบอกเวลาที่ 2 ในส่วนชั่วโมง และบอกว่าเวลาที่ 2 นั้นเป็นของเมืองไหนโดยอ้างอิงชื่อเมืองจากขอบด้านใน

ด้วยการที่ใช้เข็มร่วมกันในการทำงานตรงนี้ผมถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับทีมออกแบบเลยก็ว่าได้ เพราะไม่อย่างนั้นสับสนแน่ๆ ซึ่งตอนแรกผมต้องเปิดท่องคู่มือนั่งท่องกันเลยทีเดียว เพราะไม่อย่างนั้นงงมากโดยเฉพาะในเมื่ออยู่ใน Time Mode เพราะไม่รู้ว่าเข็มไหนบอกเวลา เข็มไหนบอกเมือง ซึ่งเอาจริงๆ การดูเวลาที่ 2 บนหน้าปัด ดูยากกว่าการดูเวลาบนนาฬิกาแบบ GMT แท้ๆ เยอะเลย

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

นาฬิกาเรือนนี้มีการจัดวางปุ่มเหมือนกับนาฬิกาจับเวลาหลายๆ รุ่น คือ มีปุ่ม 2 และ 4 นาฬิกา โดยจะมีการใช้งานที่ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับโหมดที่ถูกเลือก เช่น ถ้าอยู่ใน Chrono Mode ก็จะทำหน้าที่ Start/Stop และ Reset รวมถึงจับเวลาแบบ Intermediate Time หรือ Pause เข็มเอาไว้แต่เวลาในการจับยังเดินอยู่ แต่ถ้าอยู่ใน Timer Mode จะเป็นปุ่ม +/- สำหรับเลือกเมืองต่างๆ

 แต่ปุ่มที่เพิ่มขึ้นมาคือ ตำแหน่ง 10 นาฬิกาที่ถูกเรียกว่าปุ่ม Mode โดยนอกจากหน้าที่ซึ่งผมอธิบายข้างต้นแล้ว เมื่อกดสั้นๆ แบบไม่แช่เอาไว้ มันจะทำหน้าที่ในการบอกเวลาสากลเชิงพิกัด หรือ UTC ต้นทาง ซึ่งคือเวลาเริ่มต้นของอังกฤษในตำแหน่ง 0 เช่น ณ ตอนนี้ เวลาที่กรุงเทพ 10 โมงเช้า เมื่อคุณกดปุ่ม Mode สั้นๆ ก็จะโชว์เวลา UTC อยู่ที่ 03.00 น. หรือตี 3

การใช้งานไม่ยุ่งยากและวุ่นวาย แต่คุณ ‘ต้อง’ นั่งอ่านจากแมนนวล (ผมแนะนำให้อ่าน และดาวน์โหลด PDF ติดตัวเองไว้ในสมาร์ทโฟน โหลดที่นี่) เพื่อทราบว่าแต่ละเข็มแต่ละปุ่มบนตัวนาฬิกามีหน้าที่อะไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โหดและเล่นเอาเหนื่อยกว่านั้นอย่างที่ผมบอกข้างต้นคือ การปรับเซ็ตหลังจากเปลี่ยนถ่าน ซึ่งถึงตรงนี้คุณต้องพึ่งตัวเอง เพราะช่างก็ช่วยไม่ได้

อย่างที่บอกในตอนต้นว่ากลไก H-41e ของ Hamilton คือ ควอตซ์ แน่นอนมันต้องเปลี่ยนถ่านตามอายุการใช้งาน และสิ่งที่ตามมาหลังเปลี่ยนถ่านคือ เข็มและฟังก์ชั่น จะเกิดอาการคลาดเคลื่อนและเล่นเอางงไปหมด อย่างแรกที่จะเจอคือ เข็มต่างๆ ไม่ตรงหน้าปัด หรือรีเซ็ตไม่ตรง

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer ChronoHamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

ตรงนี้จัดการไม่ยาก คลายเกลียวเม็ดมะยมมาที่ตำแหน่งตั้งวันที่ 2 (ซึ่งกลไกนี้การตั้งวันที่ก็วุ่นนิดๆ เพราะไม่ใช่แบบ Quick Adjust ที่หมุนแล้วจานวันที่จะหมุน แต่ต้องหมุนเพื่อให้เข็มชั่วโมงหมุนรอบ 2 รอบหน้าปัดหรือ 24 ชั่วโมงเพื่อเปลี่ยน 1 วัน) จากนั้นกดปุ่ม 10 นาฬิกา 1 ครั้ง หากเข็มหรือเพลทอะไรก็ตามหมุน 360 องศาหรือ 1 รอบหน้าปัด แสดงว่าเราอยู่ในการเซ็ตตรงเข็มนั้น จากนั้นก็กดปุ่มในตำแหน่ง  2 หรือ 4 นาฬิกาเพื่อให้เข็มเดินหน้าหรือถอยหลัง เมื่อได้ตรงตามต้องการแล้วก็กดปุ่ม 10 นาฬิกาอีกที ก็จะนำไปสู่การตั้งเข็มต่อไป

เมื่อกดไปเรื่อยๆ สุดท้ายคือ การตั้งจานหมุนเพื่อบอก Mode อันนี้อาจจะค่อนข้างงงนิดๆ เพราะข้างในจะเป็นจานหมุน ไม่ใช่เป็นเข็ม คราวนี้คุณต้องกดปุ่มแช่เพื่อให้แถบสีเหลืองดำหมุนโดยรอบเพื่อไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ ว่าจะเลือก Chrono หรือ Timer แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น คุณต้องเช็คก่อนการเซ็ตว่าในการใช้งานปกติการระบุฟังก์ชั่นมันตรงกับที่เลือกหรือไม่ ถ้าตรงก็ไม่ต้องไปยุ่ง แต่กรณีผมหลังการเปลี่ยนถ่านคือ ช่องบอก Mode มันสลับกัน คือ พอกดปุ่ม 10 นาฬิกาค้างเอาไว้ ถ้าแถบสีเหลืองไปอยู่ที่ Chrono นาฬิกาดันกลายเป็นการบอกเวลาที่ 2 หรือ Timer ก็เลยต้องปรับให้มาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง..เมื่อจบก็ปรับเม็ดมะยมไปอยู่ในตำแหน่งเดิมแล้วหมุนเกลียวเพื่อล็อกซะ

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono
Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono
Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

แต่ปัญหามันยังไม่หมด….

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังเปลี่ยนถ่านคือ เวลาที่ 2 และเข็มบอกเมืองใน Timer Mode มันไม่ตรงกันเวลาที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับเข็มในหน้าปัดย่อยที่บอก Day/Night ตรงนี้สอดคล้องกับฟังก์ชั่นในกลไก และสิ่งที่เจ๋งของกลไกนี้คือ มันมีการบันทึกในเรื่องของฟังก์ชั่นการออมแสงหรือ DST เช่นเดียวกับการบันทึกเวลาสากลเชิงพิกัด หรือ UTC ลงไปในระบบของกลไก หรือการทำ Programming UTC Time

ด้วยเหตุที่คุณไม่สามารถปรับตั้งเข็มบอกเวลาที่ 2 ได้อิสระเหมือนกับนาฬิกา GMT ทั่วไป ดังนั้น ก็จำเป็นต้องเซ็ตให้เวลาหลักกับเวลาที่ 2 ตามเขตโซนเวลาทั้ง 24 เมืองให้มีความสัมพันธ์กัน นั่นก็เลยทำให้ทุกครั้งที่มีการถอดหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ คุณจะต้องทำการบันทึกเวลา UTC ในกลไกทุกครั้ง

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

วิธีการคือ คลายเกลียวเม็ดมะยมและดึงมาที่ตำแหน่งตั้งเวลา จัดการตั้งเวลาหลักให้เรียบร้อย จากนั้น กดปุ่มในตำแหน่ง 2 และ 4 นาฬิกาพร้อมกันค้างเอาไว้ 2 วินาที เพื่อเข้าสู่การตั้งเข็ม โดยวิธีสังเกตดูว่ากลไกเข้าสู่โหมดการบันทึกหรือไม่ ดูที่แถบสีเหลืองดำตรงช่องบอก Mode จะมีการสลับกลับไปกลับมาในระหว่างกด 2 ปุ่มค้างเพื่อบอกว่าพร้อมแล้ว

เช่น วันนี้ตามเวลา UTC คือ วันที่ 6 กันยายน 2021 เวลา 20.15 น. หรือ 6/9/2021/20/15 หรือ 03.20 ตามเวลาไทย เมื่อกดปุ่มทั้ง 2 ค้างเอาไว้ จุดแรกที่จะต้องบันทึกคือ หลักสิบของปี ซึ่งไม่ว่าเข็มจะชี้ไปที่ไหน คุณต้องกดปุ่ม 2 หรือ 4 นาฬิกาที่ในตอนนี้ทำให้ที่เป็นปุ่ม +/- ให้มาชี้ที่เลข 2 จากนั้นกดปุ่มที่ 10 นาฬิกาเพื่อบันทึกเมื่อกดเสร็จ เข็มก็จะชี้ไปที่หลักหน่วยของปี ซึ่งคุณก็ต้องกดเพื่อให้ชี้มาที่เลข 1 จากนั้นก็กดปุ่ม 10 นาฬิกาเพื่อบันทึก ระบบก็จะพาไปสู่การเซ็ตเดือน ตามด้วยวันที่ ตามด้วยชั่วโมง และสุดท้ายคือ นาที ซึ่งคุณต้องปรับให้ตรง (ถ้าทำถูกหน้าปัดย่อย Day/Night จะต้องบอกว่าเป็นเวลากลางคืนด้วยตามเวลาข้างบน) แล้วกดปุ่ม 10 นาฬิกาเพื่อบันทึก ซึ่งเมื่อครบแล้ว ก็ดันเม็ดมะยมและขันเกลียวเป็นอันจบพิธี จากนั้นกลไกก็จะจัดการปรับเวลาให้สอดคล้องกับเขตโซนเวลาทั้งหมด

จากนั้นมารีเช็คว่าถูกต้องไหม ด้วยการอยู่ใน Timer Mode แล้วกดปุ่ม 2 หรือ 4 เพื่อเลือกเมืองในการแสดงเวลาที่ 2 ซึ่งถ้าเซ็ตตรง เมื่อเข็มไปตกที่เมืองไหน เวลาก็จะต้องต่างกันตามชั่วโมงที่ต่างกันในเขตโซนเวลานั้นๆ ตามตัวอย่างข้างต้นเวลาหลัก หรือเวลากรุงเทพ คือ 03.15 น.หรือตี 3 เมื่อกดปุ่มเลือกไปที่เมืองโตเกียว (ที่มีเวลาเร็วกว่า 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพ) เวลาที่แสดงผ่านเข็มระบุเวลาที่ 2 หรือเข็มที่มีปลายลูกศรยาว ก็จะต้องอยู่ที่เลข 5 ตามเวลา 05.15 น. (ส่วนเวลาในส่วนนาทีจะใช้ร่วมกับเข็มนาทีหลัก) หรือเมื่อกดปุ่ม 10 นาฬิกาสั้นๆ เวลา UTC ก็จะต้องเป็น 20.15 ถ้าไม่ตรงก็มานั่งไล่กระบวนการบันทึกเวลาใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ

บอกเลยว่า งานนี้ถ้าไม่มีคู่มือ…จบข่าว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะยุ่งยากและวุ่นวายในการปรับเซ็ต แต่ส่วนตัวผมแล้วถือว่า Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono เป็นนาฬิกาที่เจ๋งมากในแง่ฟังก์ชั่น การเป็น Beater Watch เอาไว้ใส่ลุย หรือการเป็นนาฬิกาติดข้อมือเมื่อคุณต้องเดินทางไปไหนมาไหน (จะแบบเที่ยวทิพย์หรือไม่ทิพย์ก็ตาม)

ตัวเรือนมากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตร และหนา 13 มิลลิเมตร พ่วงด้วย Lug to Lug ที่มีขนาด 52 มิลลิเมตร ดังนั้น พวกข้อมือเล็กที่ต่ำกว่า 6.5 นิ้ว ผมคงต้องบอกว่าอย่าฝืน นอกจากคุณจะชอบจริงๆ เพราะขนาดข้อมือผม 7 นิ้วยังถือว่าเกือบเต็มข้อเลย

ถ้าชอบ…ผมว่าเรื่องความวุ่นวายในการปรับเซ็ต คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แค่นั่งอ่านแมนนวล แป๊บเดียวก็จบแล้ว แต่จุดหลักน่าจะอยู่ที่ว่าคุณกล้าที่จะเอาความชอบเป็นที่ตั้งอันดับแรกในการตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่างมากน้อยแค่ไหน เพราะการเป็นกลไกควอตซ์ พร้อมป้ายราคาเริ่มต้นที่ 45,600 บาทกับรุ่นสายหนัง น่าจะทำให้หลายคนลังเลและไม่กล้าที่จะควักเงินจ่ายราคาขนาดนี้เพื่อแลกกับนาฬิกาควอตซ์

ส่วนตัวผม ถ้าเป็นนาฬิกาที่ผมชอบและหลงใหล การเป็นควอตซ์หรือออโต้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากเท่ากับความชอบ ผมขอเลือกใส่นาฬิกาที่ตัวเองชอบ ดีกว่าต้องใส่นาฬิกาที่ไม่ชอบแต่ต้องจ่ายเงินซื้อเพราะความมัวแต่ห่วงเรื่องมูลค่าในตลาดเวลาต้องขายต่อแล้วราคาไม่เจ็บตัว

ถ้าเป็นเช่นนั้น การผจญภัยในโลกแห่งเวลาของผมคงน่าเบื่อแย่เลย

Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

ข้อมูลทางเทคนิค : Hamilton Khaki Aviation Worldtimer Chrono

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 45 มิลลิเมตร
  • หนา : 13 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 52 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 22 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : สแตนเลสสตีล
  • รูปแบบฝาหลัง : ขันเกลียว
  • กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
  • กลไก : H-41e แบบควอตซ์ แสดงเวลา Worldtime และจับเวลา Chronogrpah
  • การกันน้ำ : 100 เมตร
  • ประทับใจ : รูปทรงและขนาด / ฟังก์ชั่นของนาฬิกาที่ไม่เหมือนใคร
  • ไม่ประทับใจ : รูปแบบของเข็มที่ใช้ร่วมกันของ 2 ฟังก์ชั่นทำให้ดูเวลาลำบาก โดยเฉพาะในการดูเวลาที่ 2