Citizen Promaster เกิดมาเพื่อการใช้งานสุดขั้ว

0

มีบรรดาแฟนๆ หลายคนถามมาว่า นาฬิกาในกลุ่ม Promaster ของ Citizen นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีจุดเริ่มต้นที่ไหน เอาละ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับนาฬิกาในกลุ่มนี้กัน

Citizen Promaster เกิดมาเพื่อการใช้งานสุดขั้ว

Citizen Promaster เกิดมาเพื่อการใช้งานสุดขั้ว

- Advertisement -

ขณะที่ Seiko มีคอลเล็กชั่น Prospex ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อรองรับกับตลาดแนว Sport และคนที่ต้องการนาฬิกาเฉพาะทางเพื่อรองรับกับการใช้งาน ทางฝั่ง Citizen เองก็มีความสนใจในการผลิต Tool Watch ขึ้นมาเพื่อรองรับกับตลาดในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน และต้องยอมรับว่าชื่อของ Promaster เป็นที่รู้จักกันมานานในกลุ่มของผู้ที่ใช้นาฬิกาสำหรับรองรับกับการทำกิจกรรม หรือการทำงานของตัวเอง และในปีนี้ต้องบอกว่านอกจากแบรนด์หลักอย่าง Citizen  จะอยู่ในวาระของการฉลองครบรอบ 100 ปีแล้ว Promatser เองก็อยู่ในช่วงของการเตรียมฉลองครบรอบ 30 ปีที่อยู่ในตลาด

ที่ต้องบอกเช่นนั้นก็เพราะว่า Citizen ผลิตนาฬิกาเรือนแรกสำหรับการใช้งานเฉพาะทางภายใต้ชื่อ Promaster ออกมาสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อปี 1989 โดยนาฬิกาในกลุ่มนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในฐานะของนาฬิกาแบบสปอร์ตที่มีนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อรองรับกับการใช้งานเฉพาะทาง รวมถึงมีความทนทานและมีน่าเชื่อถือในระหว่างการใช้งานได้อีกด้วย เรียกว่าไม่มีอาการรวนในระหว่างใช้งานให้เห็น

Citizen Promaster เกิดมาเพื่อการใช้งานสุดขั้ว

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนเหมือนกับในปัจจุบัน แต่ในปี 1989 ทาง Citizen เองได้เปิดตัวนาฬิกาออกมา 3 รุ่นที่ถือว่ารองรับกับการใช้งานใน 3 พื้นที่หลัก คือ ทะเล-Marine ท้องฟ้า-Sky และพื้นดิน-Land พร้อมกับตราสัญลักษณ์ที่เหมือนกับหัวลูกศรสีแดง ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับแฟนของ Promaster

ในกลุ่ม Marine นั้นเป็นหน้าที่ชองนาฬิกาในคอลเล็กชั่น Aqualand  ที่ทาง Citizen ทำให้นาฬิกาแบบ Analogue-Digital รุ่นนี้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นด้วยการติดตั้ง Depth meter เข้าไป ทำให้กลไก Caliber C020 นอกจากจะมีความสามารถในการกันน้ำระดับ 200 เมตรตามมาตรฐานการทดสอบของ ISO6425 แล้ว ตัวนาฬิกาเองยังสามารถวัดระดับความลึกได้ด้วยผ่านทางเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการติดตั้งมาตรวัดความลึกนั้นถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาในตระกูล Aqualand เลยก็ว่าได้ ขณะที่รุ่นดำน้ำอื่นๆ ก็มีขายเสริมเป็นอีกทางเลือก แต่ที่โด่งดังสุดคือตระกูล Zilla ทั้งหลาย ที่มีทั้ง Eco-Zilla แบบ 300 เมตรกลไกควอตซ์ Eco-Drive และ Autozilla แบบใช้กลอัตโนมัติที่ดำลงไปได้ถึง 1,000 เมตร พร้อมตัวเรือนไทเทเนียมที่มี Helium Escape Valve

นาฬิกา 3 รุ่นแรกของ Citizen Promaster ที่เปิดตัวในปี 1989 และแบ่งเป็นกลุ่ม Marine Land และ Sky

ส่วนในกลุ่ม Land นั้นเป็นหน้าที่ของ Altichron ซึ่งแน่นอนว่ามีการติดตั้งเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับวัดความสูง โดยสามารถแสดงค่าได้ระหว่าง -300 ถึง 5,000 เมตรผ่านทางกลไก Caliber C040 และทาง Citizen เองก็นำชื่อ Altichron มาใช้กับนาฬิกากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ในรหัส BN5058-07E ออกมาขายอยู่ในตลาด หรือรุ่นใหม่อย่าง CC3067 ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างสมบุกกสมบัน และมีกลไกที่สามารถปรับเวลาด้วยการรับสัญญาณ GPS

สำหรับกลุ่ม Sky นั้น ในช่วงแรกยังไม่ได้มีการแบ่งกลุ่มออกมาให้มีความซับซ้อนมากนัก แต่ก็นำเสนอภาพลักษณ์ของตัวนาฬิกาผ่านทาง Slide Rule Scale ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับพวกนักบินในการใช้ในการคำนวนต่างๆ ซึ่งในเวลาต่อมาถือเป็นเอกลักษณ์หลักของนาฬิกาในกลุ่มนี้เลยก็ว่าได้ และเกือบทุกรุ่นจะมาพร้อมกับ Slide Rule โดยหลังจากนั้นนาฬิกาในกลุ่มนี้จะมีการแบ่งออกเป็นรุ่นย่อยๆ ด้วยการใช้ชื่อนกเหยี่ยวมาตั้งเป็นชื่อรุ่น เช่น Nighthawk, NaviHawk, SkyHawk หรือ SailHawk รวมถึงรุ่นที่ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในกลุ่มที่ตั้งชื่อตามบรรดานกทั้งหลายอย่างนาฬิกานักบินในกลุ่ม CC9020 บนตัวเรือนแบบไทเทเนียม

แน่นอนว่านาฬิกาของ Citizen ในกลุ่มของ Promaster นั้นมาพร้อมสเป็กที่ถูกปรับปรุงหรือพัฒนาเพื่อการใช้งานเฉพาะทาง พร้อมดีไซน์ที่ต้องบอกว่าสวยและโดนใจบรรดาแฟนๆ ทั่วโลก

Citizen Promaster เกิดมาเพื่อการใช้งานสุดขั้ว