Citizen Promaster BN7020-09E ตัวโหดที่ใครๆ ก็หลงรัก

0

หลังจากเฝ้ารอมานาน 3 ปีในที่สุดเราก็ได้ครอบครองนาฬิกาดำน้ำเข้าของฉายา Solarzilla หรือเจ้า Citizen Promaster BN7020-09E กันสักที และพบว่านี่คือนาฬิกาดำน้ำที่เจ๋งสุดๆ เรือนหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

- Advertisement -

Citizen Promaster BN7020-09E

Citizen Promaster BN7020-09E ตัวโหดที่ใครๆ ก็หลงรัก

  •  ที่สุดของนาฬิกาดำน้ำ กับตัวเรือน 52.5 มิลลิเมตรและหนา 22 มิลลิเมตร ที่ผลิตจาก Super Titanium

  • กลไก J210 ชาร์จกระแสฟ้าด้วยการสังเคราะห์แสงอาทิตย์/แสงทั่วไปตามอาคาร เมื่อชาร์จจนเต็มจะอยู่ได้ 1.5 ปี

  • ราคาป้ายอยู่ที่ 92,000 บาทซึ่งถือว่าเป็นราคาที่บ้าดีเดือดมาก

เมื่อเปรียบเทียบกับตระกูล Prospex ของ Seiko ที่ถือเป็นคู่แข่งสายตรงแล้ว ต้องบอกว่า แม้ Promaster ของ Citizen จะมีทางเลือกของผลผลิตไม่ได้เยอะและหลากหลายเท่า แต่ทว่าในแต่ละรุ่นจะมีจุดเด่นและความน่าสนใจที่อย่างน้อยก็สามารถดึงความสนใจในครั้งแรกที่ได้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็รวมถึงเจ้า Promaster BN7020-09E หรือที่ถูกเรียกว่า Solarzilla ต่อจากพวกพี่ๆ อย่าง Autozilla และ Ecozilla ซึ่งถือว่าเป็นตัวดำน้ำสุดโหดของแบรนด์

ผมยังจำได้ถึงครั้งแรกที่ได้เห็นนาฬิกาเรือนนี้ซึ่งเป็นจังหวะที่เว็บไซต์ ana-digi.com กำลังจะเปิดตัว และตรงกับช่วงเวลาของ Baselworld 2017 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พอดี สารภาพเลยนะครับว่า มันตราตรึงใจมาก และในฐานะที่เป็นแฟนของพวกตระกูล Zilla ของ Citizen มาโดยตลอด เจ้านี่กลายเป็น Wish List ในใจผมทันที เพียงแต่ด้วยราคาที่ดูจะทารุณกระเป๋า โดยเฉพาะราคาป้ายในไทยที่เปิดตัวออกมาถึง 92,000 บาท ก็เลยต้องทำเป็นเมินๆ เหมือนกับคนไม่รู้จักกันไปซะ…จนกว่าจะเจอโอกาสที่เหมาะ

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ว่าก็มาถึง ซึ่งคำที่ว่า ‘บทคนมันจะเสียเงิน ยังไงก็ต้องเสียเงิน’ ยังเป็นคำที่ถูกต้องอยู่เสมอ โดยเมื่อโพสต์ของคุณแจ็คแห่งร้าน MEwela (ใครที่สนใจนาฬิกาดีๆ ลองเสิร์ชชื่อนี้ใน FB ได้เลย) ที่ตึกแดงดันเด้งขึ้นมาบนหน้า Feed ใน FB ของผม พร้อมกับการตามหาเจ้าของใหม่ให้กับ Promaster BN7020-09E ด้วยราคาที่บอกได้เลยว่า ยากที่จะปฏิเสธ…ไม่เกิน 3 นาที คือ เวลาที่ผมใช้ในการปิดดีลนี้กับคุณแจ็ค และการเฝ้ารอมานานร่วม 3 ปีก็สัมฤทธิ์ผล

ต้องบอกว่านับจากการประกาศตัวเข้าสู่ยุค Eco-Drive กับกลไกที่ใช้พลังแสงอาทิตย์อย่างเต็มตัวของ Citizen ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นาฬิกาในกลุ่มดำน้ำ หรือ Sea ของพวกเขาถือว่าถดถอยในเรื่องของดีไซน์ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ผลงานที่เคยยอดเยี่ยมอย่างเจ้า Autozilla หรือ NH6931-06E และ NH6930-09FB นั้นแทบไม่มีออกมาเลย จนกระทั่งการมาถึงของ Promaster BN7020-09E ในปี 2017 นี่แหละที่ผมถือว่าสามารถปลุกกระแสให้กลับมาได้

Citizen Promaster BN7020-09E

จริงๆ แล้วผมไม่รู้ว่าจะเรียกมันด้วยชื่อเล่นอย่างไรดี เพราะถ้าให้ร่ายรหัสเต็มคงจำกันเหนื่อย แต่สุดท้ายก็ไปเจอฝรั่งรีวิวที่เรียกเจ้านี่ว่า Solarzilla ต่อจาก Autozilla (ดำน้ำ 1,000 เมตรกลไกอัตโนมัติ) และ Ecozilla (ดำน้ำหน้าตาคล้ายกับ Autozilla แต่ดำได้ 300 เมตร และใช้กลไก Eco-Drive) ซึ่งผมว่าฟังแล้วก็เข้าท่าดี

Citizen Promaster BN7020-09E

Citizen Promaster BN7020-09E มากับตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 52.5 มิลลิเมตร ถือว่าใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาทั่วไป แต่ถ้ามาเจอกับ Casio G-Shock แล้ว ตัวเลขนี้ถือว่าพอฟัดกันได้ และสำหรับผมแล้วถือว่าไม่มีปัญหาอะไร ส่วนความหนาถือว่าโหดเอาเรื่อง กับตัวเลข 22.2 มิลลิเมตร เรียกว่าเมื่อคาดขึ้นข้อปุ๊บ ความรู้สึกเหมือนเอากระป๋องนมตราหมีมาร้อยสายแล้วข้อมือเลยมาปั๊บ…แต่ถูกใจผมนะ

แต่สุดท้าย เอาเข้าจริงๆ แล้ว สิ่งที่น่ากลัวของ Citizen Promaster BN7020-09E ไม่ใช่เรื่องเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือความหนา แต่เป็นเรื่องของการดีไซน์ตรงข้อย่นของสายยางต่างหาก เพราะด้วยรูปทรงแบบไม่มีขา นาฬิการุ่นนี้จึงมี Lug to Lug แค่ 50 มิลลิเมตรนิดๆ เท่านั้น ซึ่งข้อมือระดับ 7 นิ้วทั่วไปรับมือได้อยู่แล้ว แต่เมื่อประกอบร่างกับสายยางติดจากโรงงานที่มีข้อย่นซึ่งถูกออกแบบให้กางออกนั้น ตัวเลขของ Lug to Lug บนตัวเรือนบวกกับชิ้นส่วนของสายยางที่กางออกมานั้น ทำให้ตัวเลข 2 ส่วนนี้รวมกันแล้วมาอยู่ในระดับ 77 มิลลิเมตรเลยทีเดียว

ดังนั้น อย่าว่าแต่ข้อมือผมเลย ต่อให้ข้อมือฝรั่งชาติไหนในโลกนี้ เจอตัวเลขนี้เข้าไปยังไงก็ไม่รอดที่จะใส่แล้วไม่กาง

ถ้าใครไม่ชอบ ก็ยังมีทางออกเดียวคือ ปรึกษา Suppa Parts เพราะที่นี่มี Part ที่เรียกว่า Adapter สำหรับ Citizen Promaster BN7020-09E ขายอยู่เหมือนกัน ทำให้ไม่ต้องสายยางเดิม และแม้ว่าตัวนาฬิกาบวกกับ Adapter นี้จะทำให้ตัวเรือนกลายร่างเป็นนาฬิกาแบบมีขาสาย เพิ่มความสะดวกในการเปลี่ยนสายรูปแบบอื่นๆ ซึ่งผมว่าสุดท้ายแล้ว Lug to Lug ของมันก็คงไม่สร้างความลำบากให้กับข้อมือของคนทั่วไป มากเท่ากับตัวเรือนบวกสายยางเดิมอย่างแน่นอน

ส่วนตัวผมไม่ค่อยกังวลเรื่องขนาด

และถ้าต้องไปหา Suppa Part ก็เป็นแค่ปัญหาเดียวคือ สายยางของ Citizen Promaster BN7020-09Eถอดยากมาก ซึ่งผมว่าเป็นปัญหาคลาสสิคที่เจอมาตั้งแต่สมัย Autozilla แล้ว เนื้อยางค่อนข้างแข็ง และการดันออกจากตัวรัดสายก็ทำให้ยากมาก ต้องใช้แรงเอาเรื่องชนิดที่หวั่นๆ ว่าจะมีงานงอกเพราะตัวรัดสายมันจะขาดออกจากกัน ซึ่งเท่าที่ลองใช้งานมาทั้งหมด เรื่องนี้แหละที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผม

Citizen Promaster BN7020-09E

ส่วนใครที่กังวลว่าขนาดตัวเรือนไซส์นี้จะสร้างปัญหาให้กับข้อมือในเรื่องของน้ำหนักนั้น บอกได้เลยว่าไม่ต้องห่วง เพราะ Citizen Promaster BN7020-09Eมีน้ำหนักแค่ 180 กรัมเท่านั้น นั่นเป็นเพราะตัวเรือนผลิตจาก Super Titanium พร้อมกับกรรมวิธีเคลือบ Duratec MRK และ DLC ที่ช่วยเคลือบให้พื้นผิวมีความแข็งแกร่ง ทนต่อการขูดขีด

นอกจากนั้นอีกสิ่งที่น่าสนใจและถือว่าเป็นดีไซน์เพื่อการใช้งานคือ ระบบ Lock การหมุนของขอบตัวเรือนเพื่อช่วยป้องกันการจับเวลาที่คลาดเคลื่อนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เวลาทำงานใต้ท้องทะเล เพราะแค่ระบบหมุนทิศทางเดียวหรือ Unidirection ของขอบตัวเรือนในนาฬิกาดำน้ำปกติอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งการออกแบบระบบนี้กับขอบ Bezel ของ Citizen Promaster BN7020-09Eถือว่าทำได้อย่างลงตัวทั้งในแง่รูปลักษณ์และความสะดวกในการใช้งาน เพราะปีกที่ยื่นออกมาจากขอบตัวเรือนจนทำให้ดูเหมือนกับดาวกระจายนั้น จะกลายเป็นตัวเพิ่มความสะดวกในการหมุนขอบตัวเรือนแม้ว่าจะสวมถุงมือหนาๆ

การใช้ระบบ Lock ขอบตัวเรือนก็ทำได้ง่าย ไม่ต้องอ่านคู่มืออะไรเพิ่มเติม แค่ดันขอบอีกชุดที่อยู่ด้านล่างให้หมุนไปตามทิศทางที่ตัวอักษรระบุว่า Lock หรือ Free แค่นี้ก็จบ โดยจุดสังเกตว่าระบบนี้ทำงานอยู่หรือเปล่า ก็ดูจากแถบสีส้มที่ปรากฏอยู่ ซึ่งถ้าเจอแถบสีส้มแสดงว่าระบบถูกปิดและสามารถหมุนขอบตัวเรือนได้

ขณะที่สเกลสำหรับจับเวลาในการดำน้ำที่อยู่บนขอบตัวเรือนนั้น แม้ว่าจะดูแน่นๆ เพราะมีแต่ตัวเลขขนาดใหญ่เต็มไปหมด แต่เอาเข้าจริงๆ เราจะพบว่าเฉพาะ 0-20 เท่านั้นที่มีตัวเลขขนาดใหญ่ เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการดำน้ำ ส่วนที่เหลือตัวเลขจะถูกลดขนาดจนแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นตัวเลข 30 และ 45 ที่เป็นหลักสำคัญอยู่แล้ว ซึ่งมีขนาดเท่ากับตัวเลข 0-20

กระจกแบบ Sapphire มีลักษณทรงโดมและถูกวางตัวให้อยู่ลึกลงไปจากระนาบของขอบตัวเรือน ตัวกระจกมีการเคลือบสารลดการสะท้อนแสงเพื่อความสะดวกในการมองเวลาอยู่ใต้น้ำ ส่วนบนหน้าปัดไม่มีอะไรหวือหวา ดูออกแนวตันๆ ด้วยซ้ำ ตัวนาฬิกาเป็นแบบ 3 เข็มที่มีรูปทรงของเข็มแบบแท่งๆ ทื่อๆ เหมือนกับ Autozilla ตัวเข็มถูกออกแบบในแนว Plongeur Hand สำหรับนาฬิกาดำน้ำ ซึ่งเข็มนาทีจะมีขนาดใหญ่ และเคลือบด้วยสีส้มเพื่อให้มีความแตกต่างจากเข็มชั่วโมง ขณะที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาจะมีมาตรวัดสำหรับ Power Reserve Indicator เพื่อบอกระดับพลังงานในแบตเตอรี่

สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของกลไกและ Citizen เลือกใช้กลไก J210 สำหรับ Citizen Promaster BN7020-09Eและนั่นทำให้เกิดสถิติใหม่คือ เจ้านี่กลายเป็นนาฬิกาแบบกินแสงเรือนแรกของโลกที่สามารถดำได้ในระดับ 1,000 เมตร และมี HEV ที่สามารถใช้งานในรูปแบบ Saturation หรือการใช้ชีวิตอยู่ในแทงค์ใต้น้ำได้

ในแง่ของการใช้งานนั้นมีการถกเถียงถึงเรื่องของการใช้กลไกที่สร้างกระแสไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ หรือแสงสังเคราะห์กับนาฬิกาดำน้ำว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะในการดำน้ำปกติแล้วจะมีจุดที่เรียกว่า Aphotic ที่เป็นคำเรียกในภาษากรีกที่มีความหมายว่า ปราศจากแสง หรือ Without Light ซึ่งจะเป็นช่วงความลึกในระดับ 200 เมตรลงไป

แต่สุดท้ายคุณไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เพราะเมื่อชาร์จจนเต็มถังแล้ว กลไกนี้สามารถเดินอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 1.5 ปี หรือ 547 วัน และแค่การดำแบบ Scuba ที่มีระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที ยังไงก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับการใช้งาน และถ้าลงไปอยู่ใต้น้ำเพื่อทำงานในรูปแบบของ Saturation Diving แล้ว อันนี้ยิ่งไม่ต้องห่วง เพราะสถิติสูงสุดของการทำงานที่อยู่ใต้น้ำนั้นแค่ 73 วัน 2 ชั่วโมง 34 นาทีเท่านั้น แถมยังเป็นที่ความลึกแค่ 7.34 เมตร ยังไงก็เหลือเฟือ

ส่วนใครที่กังวลในเรื่องความทนทาน ก็มิต้องห่วง เพราะก่อนที่จะขายทาง Citizen จับทดสอบเพื่อให้ได้มาตรฐาน ISO6425 ของการดำน้ำ แถมยังฝากติดข้อมือของทีมวิจัย Japan Agency for Marine-Earth Science and Technology (JAM- STEC) ให้เอาลงไปใช้ใต้น้ำ และผ่านการทดสอบสบายๆ

ในเรื่องการใช้งานนาฬิกาแบบกินแสงนั้นดูเหมือนว่าหลายคนจะค่อนข้างกังวล และส่วนใหญ่เลือกที่จะเมิน แต่ส่วนตัวผมค่อนข้างเฉยๆ นะ อย่างน้อยนับจากปี 1995 ที่ Citizen นำแนวคิด Eco-Drive มาใช้ ผ่านมา 25 ปีผมว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะนิ่งและผ่านการพัฒนามาจนถึงระดับที่ใช้งานได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหา สิ่งที่น่ากังวลสำหรับตัวผมนั้นมีเพียงเรื่องเดียวคือ การ Rotation ของนาฬิกาที่อาจจะไม่เพียงพอในการนำเจ้า Citizen Promaster BN7020-09Eออกมาเจอแสงบ่อยๆ และทำให้กระแสไฟฟ้าในถังค่อยๆ ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องทำคือ วินัยในการนำนาฬิกาออกมาตากแดดบ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาสัก1-2 ชั่วโมง ไม่ต้องถึงกับวางเอาไว้ท่ามกลางแสงจ้าในช่วงกลางวันหรอกครับ แค่ตอนเช้าๆ แดดยังไม่แรงมาก เท่าที่ก็ช่วยให้ระบบสามารถสังเคราะห์แสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าเติมเข้าไปเก็บในระบบได้ในระดับหนึ่งแล้ว

บทสรุปสำหรับนาฬิกาเรือนนี้ ถ้าคิดจะเป็นเจ้าของนั้น ต้องบอกเลยว่าเป็นความพอใจล้วนๆ เพราะข้อแรกกับราคาป้าย 92,000 บาทแลกกับนาฬิกา Eco-Drive ใครเห็นเป็นต้องถอย เพราะราคากับมูลค่าของนาฬิกาไม่สัมพันธ์กันเลย และผมคนหนึ่งละที่บอกเลยว่ายังไงก็ไม่มีทางจ่ายระดับนี้แม้ว่าจะหลงหัวปักหัวปำ ส่วนอีกเรื่องคือ ขนาดที่ใหญ่ จนเกินงาม มันจึงไม่ใช่ Daily Watch สำหรับทุกคนอย่างแน่นอน

ข้อมูลทางเทคนิค

  • เส้นผ่านศูนย์กลาง : 52.5 มิลลิเมตร
  • Lug to Lug : 50 มิลลิเมตร
  • ความหนา : 22 มิลลิเมตร
  • ความกว้างขาสาย : 29 มิลลิเมตร
  • วัสดุตัวเรือน : Super Titanium
  • กระจก : Sapphire
  • กลไก : J210 Eco-Drive เปลี่ยนพลังแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้า
  • ระยะเวลาเมื่อชาร์จเต็ม : 1.5 ปี
  • ความคลาดเคลื่อน : +/-15 วินาทีต่อปี
  • ระยะเวลาทำงานสูงสุดเมื่อชาร์จจนเต็ม : 1.5 ปี
  • ระดับการกันน้ำ : 1,000 เมตร
  • ประทับใจ : ดีไซน์ ความสามารถของนาฬิกา
  • ไม่ประทับใจ : ราคาป้าย และสายยางที่แข็งมาก ถอดออกลำบาก