การกลับมาอีกครั้งของนาฬิการุ่นพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 30 ปีของ Aqualand JP-2000 กับ 2 สีใหม่ ซึ่งทาง Ana-Digi.com ไม่พลาดที่จะเก็บ Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W เข้ามาอยู่ในกรุ เพราะถือเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในคอลเล็กชั่นนี้อย่างหน้าปัดแบบ Full Lume ขณะที่ฟังก์ชั่นใช้งาน ต้องยอมรับว่าเป็นนาฬิกาที่ครบเครื่องสำหรับนักดำน้ำในราคาที่เข้าถึงได้
Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W ถึงไม่ใช่นักดำน้ำแต่ก็โดนใจ
-
การนำนาฬิการุ่นคลาสสิคอย่าง Citizen Aqualand C0023 มาเพิ่มความสดใหม่
-
ตัวเรือนคงรายละเอียดเอาไว้ แต่ปรับให้ดูทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะการใช้หน้าปัดแบบ Full Lume
-
ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอตซ์แบบดิจิตอล ที่มีทั้งโหมดแสดงเวลา และการใช้ดำน้ำ โดยเฉพาะการวัดความลึก และเวลาในการดำน้ำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่ของการเป็น Tool Watch โดยมีช่วงราคาที่เข้าถึงได้ บริษัทนาฬิกาญี่ปุ่นเหนือกว่าแบรนด์นาฬิกาสวิสส์ในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะความมุ่งมั่นและความเชี่ยวชาญในเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิตอล-ควอตซ์มาผสมผสานกับนาฬิกาข้อมือเพื่อให้กลุ่มคนที่เป็นมืออาชีพในด้านนั้นๆ ได้ใช้งาน
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 มีนาฬิการุ่นหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา ได้รับความนิยมอย่างมาก และกลายเป็น Iconic ในด้านดีไซน์ ใช่แล้วเรากำลังพูดถึง Citizen Promaster Aqualand ที่มาพร้อมกับระบบวัดความลึก ซึ่งในตอนนี้มีการผลิตใหม่กับรุ่น Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W
ก่อนที่ Promaster จะถือกำเนิดขึ้นในปี 1989 นั้น Citizen ได้บุกเบิกตลาดนาฬิกาที่มีความสามารถในการรองรับกับความต้องการของกลุ่มคนที่เป็นทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นมาโดยตลอด แต่ทว่าในปี 1985 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญ เมื่อพวกเขาเปิดตัวนาฬิกาดำน้ำออกมาที่ผสมผสานทั้งการบอกเวลาและการวัดความลึกเอาไว้ในเรือนเดียวกัน ชนิดที่ไม่ต้องพึ่ง Dive Computer ก็ได้ นาฬิกาเรือนนี้มากับชื่อ Aqualand และมีรหัสรุ่นคือ C0023 ถือเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์และการแสดงผลแบบดิจิตอลของการวัดความลึกเข้ามาใส่ในนาฬิกาข้อมือ ซึ่งจริงๆ แล้วในยุคนั้น มี Dive Comp ใช้กันแล้ว แต่การที่จะนำเครื่องมือนี้มาย่อขนาดเพื่อให้อยู่ในไซส์ของนาฬิกาข้อมือ และมีความเที่ยงตรงในการทำงาน ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ขณะดำน้ำ ว่ากันว่ามีอยู่ 3 เรื่องที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ ระยะเวลาการดำน้ำ ความลึกในการดำน้ำ และรูปแบบที่แน่นอนของการดำน้ำ ในช่วงแรกๆ ของการดำน้ำลึก นักดำน้ำมักจะสวมนาฬิกาดำน้ำไว้ที่แขนข้างหนึ่งและมีมาตรวัดความลึกขนาดใหญ่ พร้อมด้วยเข็มทิศ สวมไว้ที่อีกข้างหนึ่ง ซึ่งนั่นคือ Dive Comp รุ่นแรกๆ ที่ยังเป็นแบบกลไก ดังนั้น ว่ากันว่าการเข้ามาของ Citizen Aqualand C0023 คือ จุดเริ่มต้นของบางอย่าง และก็เป็นจุดจบของบางอย่าง
การใช้นาฬิกาน้ำแบบกลไกกับขอบตัวเรือนจับเวลาที่จะต้องทำงานร่วมกับตาราง No-Deco (ซึ่งตามปกติจะอยู่บนสายยางของนาฬิกาดำน้ำเกือบทุกรุ่นของ Citizen ในยุคนั้น) กลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นแล้ว เช่นเดียวกับการที่จะต้องสวมทั้งนาฬิกาจักรกลที่มือข้างหนึ่ง และมี Dive Comp แบบโบราณอยู่เคียงข้างด้วย ในปี 1983 มีการเปิดตัว Dive Comp ที่แสดงผลแบบดิจิตอลที่มีความเที่ยงตรงกว่าอย่าง Orca Edge ออกมา และเริ่มมีแบรนด์อื่นตามมาเช่น Suunto และ UWATEC ในปี
1987 แต่เทรนด์ของนักดำน้ำหลายคนในยุคนั้น มักจะมี Citizen Aqualand C0023 อยู่บนข้อมือหนึ่ง และ Dive Comp อีกข้อมือ โดยนาฬิกาของ Citizen จะทำหน้าเหมือนกับเป็นอุปกรณ์สำรอง เพราะทำหน้าที่ได้มากกว่าการจับแค่เวลาเหมือนกับนาฬิกาดำน้ำแบบจักรกล
Citizen Aqualand รุ่นแรกเปิดตัวออกมาพร้อมกับการเป็นนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของโลกที่เพียบด้วยฟังก์ชั่น และมีระบบวัดความลึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง Citizen ได้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาหมายเลข 4611923 เอาไว้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1985
นั่นคือ จุดที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้ดี้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักดำน้ำ แม้ว่าหน้าตาจะดูแปลกประหลาด แต่กลับกลายเป็นว่าหน้าตาลักษณะนี้แหละที่ทำให้ได้รับการจดจำและกลายเป็นตำนานอีกบทของ Citizen เลย Citizen Aqualand C0023 รุ่นต่างๆ ถูกผลิตและขายออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเปิดตลาดให้กับนาฬิกาดำน้ำรุ่นใหม่ของ Aqualand ที่จะมากับระบบวัดความลึก เรียกว่าแทบจะเป็นของคู่กันเลย
อีกทั้งนาฬิกาเรือนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัวคอลเล็กชั่นของ Citizen ที่เรียกว่า Promaster ซึ่งตามออกมาในปี 1989 และตามด้วยรุ่นปรับปรุงใหม่ที่เรียกว่า JP-2000 ซึ่งเริ่มจำหน่ายในปี 1992
ดังนั้นในวาระฉลองครบรอบ 30 ปีของนาฬิการุ่น JP-2000 ทาง Citizen จึงเปิดตัวรุ่นปรับปรุงใหม่ออกมาในปี 2022 และมีทั้งสีสันและหน้าตาหลากหลายทางเลือก และ JP-2007-17W ก็ถือหนึ่งในนั้น
สิ่งที่แตกต่างจากที่ผ่านมาคือ ในรุ่นใหม่มาการเติมลูกเล่นและสีสันใหม่ๆ เข้าไป นอกเหนือจากตัวเรือนสีสแตนเลส หน้าปัดดำ และเข็มนาทีสีแดงอย่างที่เราคุ้นเคยกันมานาน ผมเลือก JP-2007-17W เพราะสีสันและหน้าตา แถมยังเป็นรุ่นเดียวที่มากับการเคลือบ PVD สีเทาเข้มบนตัวเรือน และหน้าปัดแบบ Full Lume หรือเรืองแสงทั้งแผ่น เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในคอลเล็กชั่นนี้
จุดเด่นที่ทำให้ JP-2007-17W มีความน่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องที่เกริ่นไปในพารากราฟเมื่อกี้คือ การคงดีไซน์ของตัวเรือนแบบดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งใน JP-2000 ก็รับเอารูปแบบดั้งเดิมของรุ่น C230 ที่เปิดตัวในปี 1985 มาครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนที่มีชิ้นส่วนในตำแหน่ง 9 นาฬิกายาวยื่นออกมา พร้อมกับมีการเจาะช่องสำหรับเอาไว้ให้เซ็นเซอร์ใช้รับแรงดันของน้ำ
เพื่อประโยชน์ในการประมวลผลและระบุความลึก การจัดวางเลย์เอาท์ของปุ่ม คือ ตำแหน่ง 2 -4-8-10 นาฬิกา รวมถึงเลย์เอาท์บนหน้าปัด ที่จะมีการเจาะช่องดิจิตอลเอาไว้ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งหน้าจอนี้จะใช้ในการระบุข้อมูลต่างๆ ตามฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในกลไก เช่น LOG ในการดำน้ำ ความลึก ระยะเวลาในการดำน้ำแต่ละ LOG
มันเป็นดีไซน์ที่บอกเลยว่าแปลกสุดๆ และน่าเกลียดสุดๆ ตอนที่คุณเห็นครั้งแรก แต่หลังจากที่ปรับความรู้สึกได้ ผมว่าทุกคนน่าจะมีความรู้สึกแบบเดียวกับผม คือ เป็นนาฬิกาที่โคตรเท่เลย
JP-2007-17W มาพร้อมกับขนาดตัวเรือน 44 มิลลิเมตร และจะเพิ่มเป็น 50.7 มิลลิเมตรเมื่อนับรวมส่วนที่ยื่นออกไป ตัวเรือนใส่แล้วไม่ได้รู้สึกว่ากางอะไรมากมาย เพราะ Lug to Lug หรือปลายขาสายเมื่อวัดจากด้านหนึ่งมายังอีกด้านหนึ่งแค่ 48 มิลลิเมตรเท่านั้น เรียกว่าคนที่มีข้อมือไซส์ 6.5-7 นิ้วใส่แล้วสวยเลย
แต่สิ่งเดียวที่ผมค่อนข้างติดคือ ความกว้างขาสาย ซึ่งอยู่ที่ 24 มิลลิเมตร เรียกว่าถ้าเบื่อสายยางของเดิมจากโรงงาน แล้วต้องหาสายไซส์ 24 มาใส่ ส่วนตัวผมว่ามันดูแล้วไม่ค่อยสวยเท่าไร ทำให้ภาพรวมของนาฬิกาดูเป็นแท่งๆ ทื่อๆ ยังไงพิกล สรุป ความยืดหยุ่นในเรื่องของปรับแต่งด้วยสายอาจจะลำบากสักนิด
ตัวเรือนของ JP-2007-17W มากับการเคลือบ PVD สีเทาเข้ม ทำให้ตัวนาฬิกาดูลงตัวขึ้นและตัดกับหน้าปัดที่เป็นแบบ Full Lume สีเขียวอมเหลือง ขณะที่ตามปกติแล้วถ้าเป็นหน้าปัดแบบ Full Lume บนหลักชั่วโมงและเข็มมักจะไม่ค่อยเคลือบสารเรืองแสงมาให้ แต่ปล่อยให้เหมือนกับเงาดำแบบภาพ Silhouette ซึ่งในรุ่นนี้ Citizen ไม่ได้ทำแบบนั้น มีการใช้ขอบดำตัดที่หลักชั่วโมงและบนชุดเข็ม แต่ก็มีการแต้มสารเรืองแสงเอาไว้ด้วย แต่เป็นคนละโทนสีกับของพื้นหน้าปัด เวลาดูในที่มืดก็จะได้ความสวยในอีกแบบ
การใช้งานไม่ได้ยุ่งยากและวุ่นวายอะไร เพราะ Citizen พยายามคงรูปแบบของการใช้งานของปุ่มต่างๆ เช่นเดียวกับฟังก์ชั่นให้เหมือนกับ C0023 รุ่นแรก แต่สำหรับกลไกใหม่อย่าง C520 ก็มีการเติมลูกเล่นใหม่ๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้นาฬิกามีความทันสมัย และสอดรับกับควาทต้องการของคนใช้งานในปัจจุบัน
กลไก C520 สำหรับหน่วยเป็นเมตร และจะเป็นรหัส C526 สำหรับหน่วยเป็นฟุต ถือเป็นกลไกแบบควอตซ์ ดิจิตอล และอนาล็อค หรือ Analog-Digital
โดยจริงๆ แล้วนาฬิกาจะมีอยู่ 2 โหมดหลักคือ คือ Time Mode และ Diving Mode
ซึ่งแบบแรกจะแบ่งออกเป็น 3 โหมดย่อยตามฟังก์ชั่นในการทำงาน คือ บอกเวลา ตั้งปลุก และจับเวลา ส่วนใน Dive Mode จะแบ่งเป็น Log Mode ในการเรียก Log ดำน้ำขึ้นมาดู บันทึกได้สูงสุด 4 ครั้ง ตามด้วย Depth Alarm Mode แจ้งเตือนเมื่อถึงระดับความลึกที่ตั้งเอาไว้ และวัดความลึกได้สูงสุด 80 เมตร Dive Time Alarm Mode แจ้งเตือนเมื่อครบระยะเวลาในการดำน้ำในแต่ละครั้ง โดยสามารถตั้งได้ระหว่าง 5-310 นาที และ Dive Mode ในการแสดงระดับความลึกสูงสุด และระยะเวลาในการดำน้ำแต่ละครั้ง
ด้านบนในตำแหน่ง 12 นาฬิกาจะเป็นจอดิจิตอลในการแสดงค่าต่างๆ เมื่อเข้าสู่โหมดดำน้ำ หรือถ้าเป็นโหมดดูเวลาปกติก็จะใช้ในการบอกข้อมูลอื่นๆ เช่น Day/Date เวลาในแบบดิจิตอล หรือวินาที โดยจะเปลี่ยนสลับได้ผ่านทางการกดปุ่มในตำแหน่ง 2 นาฬิกา ส่วนการสลับระหว่าง Time Mode กับ Diving Mode จะต้องกดปุ่มในตำแหน่ง 8 นาฬิกาค้างเอาไว้ 2 วินาที ระบบก็จะสลับให้
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องของการใช้ระบบดิจิตอลบอกเวลาแล้ว ตัวนาฬิกาเองด้วยความที่เป็นนาฬิกาดำน้ำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสอดคล้องกับ ISO6425 ดังนั้น รายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานนี้ยังมีอยู่ เช่น ขอบตัวเรือนหมุนทางเดียว สำหรับใช้ในการจับเวลาดำน้ำได้ เป็นระบบสำรองนอกเหนือจากระบบหลักในตัวกลไก
ในเรื่องความเที่ยงตรงนั้น ผมไม่ใช่นักดำน้ำก็เลยไม่ได้มีโอกาสนำไปทดลองใช้งาน แต่จากข้อมูลของ Citizen ระบุว่าค่าความลึกที่แสดงบนหน้าจอจะมีความแปรผันไปตามรูปแบบของน้ำด้วยเช่นกัน ด้วยเพราะการเซ็ตค่าเซ็นเซอร์เอาไว้สำหรับการใช้งานในทะเลเป็นหลัก ซึ่งน้ำทะเลจะมีความเข้มข้นอยู่ที่ 1.025
ดังนั้น ระดับความลึกในการแสดงเมื่อดำที่น้ำจืดจะแตกต่าง เรียกว่ามีมากกว่าในน้ำเค็มประมาณ 2.5% เช่น ในน้ำเค็มโชว์ 20 เมตร แต่ในน้ำจืดจะอยู่ที่ประมาณ 20.5 เมตร ดังนั้น ตัวเลขที่โชว์เวลาดำในน้ำจืดจะต้องบวกเพิ่มเข้าไปด้วย ถ้าโชว์ 20 เมตรบนหน้าปัด ความหมายคือ ความลึกที่แท้จริงจะประมาณ 20.5 เมตร
การใช้งานโดยรวมไม่ยุ่งยากและวุ่นวายเพียงแต่อาจจะต้องนั่งอ่านแมนนวลกันสักหน่อย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะปวดหัวได้
สรุปโดยรวมแล้ว ต้องบอกว่า Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W เป็นนาฬิกาที่ครบเครื่องสำหรับนักดำน้ำในราคาที่ไม่แพงมาก แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างผมเป็นต้น ความคุ้มค่าที่จะได้รับคงมีเรื่องเดียวคือ ความโฉบเฉี่ยวของดีไซน์ แต่คงไม่ได้มีโอกาสในการใช้ฟังก์ชั่นเท่าไรนัก
อีกสิ่งที่น่าเสียดายคือ ในกรณีที่ทำฉลองโอกาสพิเศษ Citizen น่าจะเปลี่ยนกลไกใหม่ที่เป็นแบบ Eco-Drive ไปเลย ซึ่งจะทำให้นาฬิการุ่นนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็อย่างว่าละครับ ราคาที่ตั้งเอาไว้คงจะไม่ใช่ในระดับนี้อย่างแน่นอน เพราะราคาของรุ่นนี้ก็ตั้งเอาไว้ถึง 550 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยบวกภาษีน้ำเข้าแล้วก็รวม 20,000 บาทแล้ว
รายละเอียดทางเทคนิค : Citizen Promaster Aqualand JP2007-17W
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 44 มิลลิเมตร (ไม่รวมเซ็นเซอร์) / 7 มิลลิเมตร (รวมเซ็นเซอร์)
- Lug to Lug : 48 มิลลิเมตร
- ความหนา : 14 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 24 มิลลิเมตร
- กระจก : Mineral
- กลไก : Calibre 520
- ฟังก์ชั่น : แสดงเวลา วัดความลึก จับเวลา บอกเวลาในการดำน้ำ
- แบตเตอรี่ : 2 ปี
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ สตอรี่ ฟังก์ชั่น
- ไม่ประทับใจ : ราคาเมื่อเปรียบเทียบกับสเป็ก
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline