รออยู่นานสองนานในที่สุด เราก็ได้เจ้า DW6935C-4 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 รุ่นของคอลเล็กชั่น Red Out มาอยู่ในมือ พร้อมกับความประทับใจกับโทนสีและการตกแต่งรายละเอียดที่ตัดกันอย่าลงตัว และถือเป็น G-Shock อีกรุ่นที่น่าประทับใจถ้าไม่ติดอย่างเดียวคือ ราคาแรงไปหน่อยเมื่อเทียบกับสเป็ก
Casio G-Shock DW6935C-4 Red Out แดงสะใจ
- คอลเล็กชั่นที่ 3 จากเวอร์ชันฉลอง 35th ปีของ G-Shock
- มากับตัวเรือนสีแดงเข้ม และพื้นผิวแบบด้านสวยและลงตัวกับฝาหลังสีดำ
- ราคา 5,235 บาท และมีเข้ามาไม่เยอะ
เมื่อคิดถึงอะไรก็ตามที่เป็น Heritage และสืบสายเลือดความคลาสสิคของ Casio G-Shock แน่นอนว่า DW5600 ก็คือรุ่นหนึ่งละ แต่อีกรุ่นที่ผมเชื่อว่าแฟนส่วนใหญ่หลงรักและมีกลุ่มที่ตามติดอย่างเหนียวแน่นอน น่าจะเป็นเจ้า DW6900 หรือบางครั้งเรียกว่า Three-Eye ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งติ่งของนาฬิการุ่นนี้เหมือนกัน ดังนั้น ตอนที่ Casio เปิดตัวคอลเล็กชั่นที่ 3 ในการฉลอง 35th ปีของการก่อกำเนิดกับรุ่น Red Out ออกมา ผมรีบจับเจ้า DW6935C-4 ใส่ใน Wish list ของตัวเองในบัดดล และเฝ้ารอว่าเมื่อไรจะมาสักที…ซึ่งมันก็นานเอาเรื่องเหมือนกันกว่าที่ของจะมาถึงมือผมหลังจากสั่งร้านรู้ใจไป
แม้จะไม่ใช่รุ่นที่แพงหรือมีเทคโนโลยีอะไรที่ล้ำสมัย แถมยังเปิดตัวหลังจาก Frogman รุ่นแรกถึง 3 ปี แต่นับจากเปิดตัวครั้งแรกในปี 1995 ชื่อของ DW6900 ก็อยู่ในตลาดอย่างต่อเนื่อง และถ้านับจนถึงตอนนี้แล้วก็รวม 23 ปีแล้ว และถือเป็น G-Shock แบบ Standard Digital ที่มีขายอยู่คู่กับชื่อนี้มาตลอด (ถ้าไม่นับรุ่นพิเศษ)
อะไรคือ สิ่งที่ทำให้ DW6900 ประสบความสำเร็จในการสร้างความประทับใจ ผมเชื่อว่าแฟนๆ หลายคนน่าจะคิดเหมือนผมคือ ดีไซน์ที่คลาสสิค โดยเฉพาะการออกแบบช่องแสดงการนับวินาทีในแบบ 3 ช่อง จนหลายคนตั้งฉายามันว่า Three-Eye ขณะที่ขนาดตัวเรือนก็ถือว่าใหญ่ขึ้น เพราะมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 50 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้หลายคนชอบมากกว่า 5600 เพราะเต็มข้อมือดี
อย่าถามนะว่า 6900 ออกมาขายกี่รุ่นกี่แบบ เพราะนับกันแทบไม่ไหว โดยนอกจากจะมีรุ่นกินถ่านธรรมดาแล้ว ก็ยังมีรุ่นกินแสงที่เรียกว่า G6900 ออกมาขายด้วย แต่ก็หายไปจากตลาดแล้ว เหลือแค่ DW6900 ที่ยังทำตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนโมดุลจาก 1289 ในรุ่นเดิมมาเป็น 3230 ซึ่งจุดต่างหลักเลยคือ การปรับปีสุดท้ายจาก 2039 มาเป็น 2099
ตอนแรกที่ Casio เปิดตัวรุ่น Big Bang Black ที่เป็นคอลเล็กชั่นแรกของการฉลอง 35th ปีออกมา ผมคาดหวังว่าจะได้เจอตัว DW6900 ด้วย ในฐานะ Iconic รุ่นหนึ่งของ G-Shock และแอบเสียใจเล็ก เพราะเมื่อถึงเวลาจริงปรากฏว่าดันไม่มี ส่วนรุ่นที่ 2 ซึ่งคือ Tornado Gold ก็เป็นกรุเทพ ทำให้ต้องรอลุ้นในคอลเล็กชั่นที่ 3 ซึ่งก็คือ Red Out…และก็ไม่ผิดหวัง เพราะมี DW6900 ที่ใช้รหัส DW6935C-4 ออกมาขายด้วย
Red Out ถือเป็นคอลเล็กชั่นที่ 3 ที่ Casio ผลิตออกขายในชุดของการฉลอง 35 ปี G-Shock ซึ่งในตลาดต่างประเทศรวมถึงเมืองไทยจะมีขายด้วยกัน 4 รุ่น โดยนอกจาก DW6935C แล้วก็ยังมี GA735C-4, DW5635C-4 และ DW5735C-4 และก็เหมือนกับรุ่น Big bang Black ที่เฉพาะในญี่ปุ่นจะมีรุ่นพิเศษวางขาย ซึ่งในกรณีของ Red Out คือ รหัส AWG-M535C-4AJR
ตอนแรกที่ได้เห็นภาพของ Red Out ครั้งแรก สารภาพเลยนะครับว่าออกอาการหวั่นๆ เพราะส่วนตัวไม่ได้ใส่นาฬิกาสีสันมารวม 5-6 ปีและดูจากวัยแล้วอาจจะไม่ค่อยเหมาะ เพราะตามคอนเซ็ปต์ของผมคือ นาฬิกาทุกเรือนที่ซื้อต้องใส่ ไม่ใช่เอามาเก็บ ดังนั้น อะไรที่เป็นสีสันฉูดฉาด อาจจะต้องขอพิจารณากันนานๆ หน่อยว่าชอบจริงไหม
แต่พอของมาถึงมือ ต้องยอมรับว่า ผิดคาด และโทนสีรวมถึงพื้นผิวของนาฬิกาที่ Casio เลือกใช้กับรุ่น Red Out นั้นถูกใจอย่างมาก คือ ออกแดงเข้มนิดๆ ไม่ใช่ออกชมพูตามที่เห็นในภาพ เรียกว่าเป็นโทนที่อยู่ตรงกลางประมาณ Burning Red กับสีแดงสดๆ ขณะที่ตัวพื้นผิวเองเป็นแบบด้าน ไม่ใช่พวก Glossy เคลือบเงา ก็เลยทำให้ภาพรวมของนาฬิกาเมื่ออยู่บนข้อมือแล้วไม่เกิดอาการกระชากวัยมากจนเกินไป
สิ่งที่เรียกว่าทำให้เวอร์ชันนี้สวยและสะดุดตาคือ การใช้สีดำมาเป็นตัวเบรกอารมณ์ ‘แดงเถือก’ ได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้สีดำตามจุดต่างๆ เช่น ฝาหลัง ปุ่มกด บัคเคิล ตัวรัดสายที่มีการพิมพ์คำว่า 35th Anniversary ลงไปด้วย ปุ่มตรงกลางหน้าจอย่อยที่เป็นตัวนับเวลาในหน่วยวินาที รวมถึงบนขอบหน้าปัดก็ใช้สีดำกับเฉพาะตัวอักษรคำว่า G-Shock เท่านั้น
สำหรับตัวสายนั้นทาง Casio เลือกเอาสายของรุ่นมาตรฐานในตระกูล DW6900 มาใช้ ซึ่งจะสังเกตได้จากการปั๊มลายที่คล้ายกับการเจาะรูบนสาย ซึ่งดูแล้วก็แปลกตา เพราะปกติจะเคยเห็นแต่ DW6900 เป็นสายแบบเรียบๆ มากกว่า (ถ้าไม่นับข้อย่นตรงสาย)
ขนาดของ DW6935C-4 ถือว่ากำลังดีเลยสำหรับข้อมือ 7 นิ้วของผม โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร Lug-to-Lug 53.2 มิลลิเมตร และหนา 16.3 มิลลิเมตร เมื่อคาดแล้วถือว่าเต็มข้อ ไม่ถึงกับล้นออกมามากเหมือนกับพวกรุ่นใหม่ๆ อย่าง GA100/GA110 และ GA700 หรือแม้แต่ Frogman
ส่วนเรื่องของหน้าจอแสดงเวลาที่เป็น Negative สไตล์ red-Tinted ใช้ฟิล์มสีแดงนั้น ตอนแรกก็หวั่นๆ ว่าจะมองเห็นตัวเลขชัดเจนไหม แต่พอได้ลองจริงๆ บอกเลยว่า โอเคนะกับคนวัย 40 กลางๆ ที่วันๆ นั่งแต่หน้าจอคอมพ์ และสายตาสั้นไปเรียบร้อยแล้ว ความกลมกลืนของพื้นหน้าปัดกับตัวเรือนไม่มีผลต่อการมองเวลา และผมว่าดีกว่าพวกหน้าจอดำเสียอีก ส่วนการกดดูไฟนั้นถือว่าดูสบายและอ่านตัวเลขได้ชัดเจน
ในแง่ของฟังก์ชั่นพื้นฐานของโมดุล 3230 นั้น ก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมากมาย นอกจากการปรับวันที่ให้ไปจบปี 2099 แทนที่ 2039 ของโมดุลเดิมนั้น ที่เหลือก็เหมือนเดิม เช่น จับเวลาเดินหน้า 1/100 วินาที และถอยหลัง 0-24 ชั่วโมงซึ่งเป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานของนาฬิกาในกลุ่ม Standard ของ G-Shock ที่มีราคาป้ายแบบยังไม่หักส่วนลดอยู่ในระดับ 3,000 บาทบวกลบ
ตรงนี้แหละที่ทำให้รู้สึกแปลกๆ ตอนที่จ่ายเงินค่าตัวของ DW6935C-4 เพราะปกติแล้ว ผมไม่นักเก็บที่ไล่ตามนาฬิกาด้วยการจ่ายเงินแพงเพื่อแลกกับความหายาก แต่มองที่ความคุ้มค่าและเหตุผลมากกว่า คราวนี้มันก็เลยแหม่งๆ ที่จะต้องจ่ายเงินในระดับ 5,235 บาท เพื่อแลกกับนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นสมกับค่าตัวในตลาดแค่ 3 พันต้นๆ โดยส่วนต่าง 2 พันบาทเป็นเรื่องของการจ่ายเพิ่มเพื่อความพิเศษเล็กๆ น้อยๆ
แต่ถ้าไม่คิดมากอย่างผม DW6935C-4 ถือเป็นอีกทางเลือกที่สวยและดูลงตัวกว่าที่เห็นจากภาพ เรียกว่า เมื่อเจอตัวจริงแล้ว รู้สึกประทับใจกับสีสันและลูกเล่นของการให้สีที่อยู่บนตัวเรือนและรายละเอียดต่างๆ อย่างมาก เสียอย่างเดียวราคาไม่น่าแรงขนาดนี้…แค่ตรงนี้จุดเดียวเท่านั้นแหละ
รายละเอียดทางเทคนิค : Casio G-Shock DW6935C-4 Red Out
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 50 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 53.2 มิลลิเมตร
- ความหนา : 16.3 มิลลิเมตร
- ระดับการกันน้ำ : 200 เมตร
- กระจก : Mineral
- โมดุล : 3230
- ฟังก์ชั่น : จับเวลาเดินหน้า ถอยหลัง และตั้งปลุก
- ประทับใจ : สีสัน และการตกแต่งรายละเอียดที่ดูลงตัว
- ไม่ประทับใจ : ราคา
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/