ผมกับนาฬิกา G-SHOCK มีประสบการณ์ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยนุ่งขาสั้น แต่ที่ผ่านมาผมมักจะเรียกหานาฬิกาที่มีตัวเรือนบึกๆ และฟังก์ชั่นเพียบๆ โดยหลงลืมและมองข้ามคอลเล็กชั่น 5600 Series มาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวัยล่วงเลยมา และพบว่านาฬิการุ่นนี้แหละที่ถือว่าเป็นที่สุดของพวกเขา เพราะมันคือ Iconic ของแบรนด์และมีความเรียบง่ายในแง่ดีไซน์แต่เพียบพร้อมด้วยฟังก์ชั่นที่เพียงพอต่อการใช้งานในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายสุดๆ
Casio G-SHOCK DW-5600E-1VQ เมื่อผมตกหลุมรักความเรียบง่าย
-
นาฬิการุ่นเบสิกของ Casio G-SHOCK ที่มีความคลาสสิคและลงตัวอย่างมาก
-
ถ่ายทอดรูปแบบของต้นกำเนิดอย่าง DW-5000C ออกมาได้อย่างครบถ้วนและแต่งเติมด้วยความร่วมสมัยเพื่อรองรับกับคนยุคใหม่
-
ด้วยราคาเพียง 3,500 บาท แต่ฟังก์ชั่นบวกกับดีไซน์ที่ลงตัวถือว่ามีความคุ้มค่าอย่างมาก
สารภาพเลยว่าตามปกติแล้ว ถ้าเป็นนาฬิกา ผมไม่ชอบอะไรที่เรียบง่าย ประมาณว่าถ้ามีแค่สามเข็มเพื่อดูเวลา ไม่ต้องมาคุยกัน..เสียเวลาเปล่า และในทางกลับกัน ถ้าเป็น Casio G-SHOCK ต้องพวกตระกูล Master of G เท่านั้น ฟังก์ชั่นเยอะ ทำอะไรได้แยะ…นั่นแหละคือสิ่งที่โปรดปราน จนกระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี่แหละ ผมเริ่มมองนาฬิกาซีรีส์หนึ่งของพวกเขาที่มีความสวยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในขณะที่ทางเลือกที่มีอยู่ในตลาดมากมาย แต่ผมบอกว่าถ้าจะต้องมีสักเรือนก็ต้องตัวพื้นฐานนี่แหละ นั่นคือ Casio G-SHOCK DW-5600E-1VQ
ถ้าคุณเป็นคนใส่แต่ G-SHOCK เรือนใหญ่ๆ แบบว่าไซส์ 49-55 มิลลิเมตรอยู่เป็นประจำ 5600 Series ไม่ใช่คำตอบในชีวิตของคุณอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อสัก 15 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมเริ่มจริงจังกับการทำฟาร์มกบ 5600 คือ นาฬิการุ่นหนึ่งที่อยู่ในหัวของตัวเองและคิดที่จะเสียเงินซื้ออยู่หลายครั้ง แต่ด้วยขนาดตัวเรือนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 42.8 มิลลิเมตร ผมกับ 5600 ก็เลยไม่มีโอกาสได้เจอกันสักที
การเติบโตขึ้นผมว่าส่งผลต่ออะไรหลายๆ อย่างในชีวิตทั้งมุมมองและความชอบ ผมยังเป็นแฟนของ Master of G อย่างเหนียวแน่น แต่ก็อยากได้ 5600 มาอยู่ในกรุสักหน่อย ดังนั้น ตอนที่พวกเขาเปิดตัวรุ่น GMW-B5000 ออกมาที่เป็นตัวเรือนโลหะเมื่อปี 2018 ผมไม่พลาดที่จะสอยเข้ามาอยู่ในกรุ และบอกเลยว่าเป็นนาฬิกาที่ลงตัวมากได้ทั้งอารมณ์ตัวลุยและทางการก็พอไหว เรียกว่าใส่กับสูทไปประชุมก็ไม่ต้องเขิน
อย่างไรก็ตาม GMW-B5000 เป็นแบบ Full Metal ก็เลยไม่ได้อารมณ์แบบดิบๆ เวลาใส่เหมือนกับพวกเรซิน ดังนั้น ความคิดที่ว่าผมจะต้องมี 5600 ซีรีส์ติดกรุสักเรือนก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง และหลังจากเปิดเว็บพลิกดูโน่นนี่นั่นไปเรื่อยๆ คำตอบที่ได้คือ เอาตัวเบสิกที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ นั่นคือ Casio G-SHOCK DW-5600E-1VQ
ผมมีเหตุผลในการเลือกนะ เพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเอง
อย่างแรก หน้าตาและความสวยงาม ซึ่งเมื่อดู 5600 Series ที่มีอยู่ในตลาดแล้ว กลายเป็นว่านาฬิกาเรือนนี้ถูกจริตผมที่สุด ได้อารมณ์ของนาฬิกา G-SHOCK รุ่นปลายยุค 1980 ต่อเข้าช่วงต้น 1990 ซึ่งดีไซน์รายละเอียดบนตัวนาฬิกาและหน้าปัดดูลงตัวมากกว่า 5600 รุ่นปัจจุบัน ซึ่งส่วนตัวผมว่ามันดูโล่งไปหน่อย
และอีกข้อคือ Casio G-SHOCK DW-5600E-1VQ ยังใช้ระบบส่องสว่างแบบ EL Backlight หรือ Electro Illuminesecence Backlight ที่แฟนๆ ของ G-Shock คุ้นเคยกันดี และในช่วงปี 2023 Casio เริ่มขยับขยายเปลี่ยนโมดุลใหม่ให้กับนาฬิการุ่น 5600 Series ให้หันมาใช้ไฟส่องสว่างแบบใหม่ที่เรียกว่า LED Backlight ซึ่งเมื่อต้นเดือนธันวาคม การเปลี่ยนโมดุลใหม่นี้ไล่มาจนถึงรุ่นพื้นฐานของ G-SHOCK รุ่นคลาสสิคแล้ว นั่นก็รวมถึง 5600 และ 6900 รุ่นธรรมดา ซึ่งในตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเปิดตัวรุ่นใหม่ที่ใช้ไฟส่องสว่างแบบ LED Backlight
แม้ว่ามันจะมีข้อเสียเยอะเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการกินแบตเตอรี่มากกว่าเวลาใช้งาน รวมถึงความชัดในการมองเห็น แต่ผมกลับชอบหน้าจอดิจิตอลที่สว่างเรือนแสงขึ้นมาทั้งจอแบบเท่าๆ กันพร้อมกับโทนสีเขียวมากกว่า โทนสีขาวนวลแบบที่มีมุมด้านหนึ่งของหน้าจอสว่างจ้าขึ้นมาเหมือนกับของ LED Backlight และในเมื่อเทคโนโลยีเก่ากำลังจะหายไปจากตลาด ผมเลยตัดสินใจไม่ยากที่จะเลือกเก็บนาฬิกาเรือนนี้ติดกรุเอาไว้ (และกำลังตามหา DW-6900 รุ่นพื้นฐานด้วย)
แม้จะไม่ใช่เป็น G-SHOCK เรือนแรกที่เปิดตัวในปี 1983 แต่ต้องยอมรับว่า 5600 Series คือ นาฬิกาที่คงกะพันและอยู่คู่กับตลาดมานับจากการเปิดตัวในปี 1987 เป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และเป็นทายาทสายตรงในการสานต่อตำนานนาฬิกาทรงเหลี่ยม (ซึ่งจริงๆ มีทั้งหมด 8 เหลี่ยม) เอาไว้
เมื่อก่อนที่ผมมองข้ามเหตุผลหนึ่งก็เพราะมันเป็นนาฬิกาเรือนเล็กที่ไม่สอดรับกับความคิดในเชิงการสวมนาฬิกา Oversized (ในตอนนั้น) ของตัวเอง แต่เมื่อวัยเพิ่มขึ้น และผมได้ลองทาบกับนาฬิกาเรือนนี้อีกครั้ง บอกเลยว่า นี่คือ นาฬิกาที่ใส่ง่ายมาก และใส่สวยมากเวลาอยู่บนข้อมือของตัวผมเอง
42.8 มิลลิเมตรสำหรับเส้นผ่านศูนย์กลาง และ 48.9 มิลลิเมตรในแง่ของ Lug to Lug สำหรับ G-SHOCK ถือเป็นนาฬิกาที่ไม่ได้ใหญ่มากมายอะไร (แต่ถือว่าค่อนข้างใหญ่สำหรับนาฬิกาทั่วไป) และความเรียบง่ายของดีไซน์ทั้งตัวเรือนและสายกลับทำให้ภาพรวมของตัวนาฬิกาเวลาสวมใส่อยู่บนข้อมือถือว่าลงตัวอย่างมาก
หน้าจอแสดงผลได้อย่างลงตัวและครบถ้วนสำหรับการใช้งาน และถือเป็นเลย์เอาท์ในการจัดแสดงข้อมูลต่างๆ ที่ลงตัวมาก โดยตัวเลขหลักจะเป็นเวลา ขณะที่แถบบนจะมีช่องสำหรับแสดงวันที่และเดือนในรูปแบบตัวเลขอยู่ทางมุมขวา (เวลาที่สวมนาฬิกาและยกขึ้นมอง) ส่วนมุมซ้ายจะเป็นการแสดงตัวอักษรตามวันประจำสัปดาห์
ในแง่ของฟังก์ชั่น คงไม่ต้องคาดหวังอะไรมากมายจากนาฬิการุ่นนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกา G-SHOCK สมัยใหม่ แต่ก็ต้องบอกว่าครบและครอบคลุมสำหรับการใช้งาน เช่น ตั้งปลุก จับเวลาเดินหน้า และถอยหลัง เสียอย่างเดียวไม่มีฟังก์ชั่น World Time มาให้ด้วย ไม่อย่างนั้น ผมเชื่อว่านาฬิกาเรือนนี้จะกลายเป็นอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมสำหรับนักเดินทาง ที่ต้องการนาฬิกาที่ดูดีแต่มีราคาที่สามารถเข้าถึงได้ และตัดสินใจซื้อได้อย่างไม่ยาก
Casio G-SHOCK DW-5600E-1VQ มีราคาป้ายอยู่ที่ 3,500 บาท และด้วยภาพรวมทั้งหมด รวมถึงเหตุผลที่ผมหยิบยกมา ผมว่านี่คือนาฬิการุ่นพื้นที่ที่มีความคุ้มค่าอย่างมาก และยังเป็นนาฬิการุ่นหนึ่งที่คือภาพสะท้อนของ G-SHOCK ในยุคแรกเริ่ม แต่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความร่วมสมัย และตอบรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปโดยที่ไม่สูญเสียตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา…และผมไม่แปลกใจเลยที่ทำไมคนทั่วโลกถึงหลงรักนาฬิกาในซีรีส์นี้
รายละเอียดทางเทคนิค : Casio G-SHOCK DW-5600E-1VQ
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42.8 มิลลิเมตร
- Lug to Lug : 48.9 มิลลิเมตร
- ความหนา : 13.4 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือนและสาย : เรซิน
- กระจก : Mineral
- กลไก : โมดุลรหัส 3229
- ฟังก์ชั่น : ตั้งปลุก, จับเวลาเดินหน้า, จับเวลาถอยหลัง
- การกันน้ำ : 200 เมตร
- ประทับใจ : ความเรียบง่ายของดีไซน์, ขนาดที่สวมใส่ได้อย่างลงตัว, ราคาที่เข้าถึงง่าย
- ไม่ประทับใจ : ขาดฟังก์ชั่น World Time
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline