เมื่อพูดถึงเรื่องของนาฬิกากับความเกี่ยวข้องในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแบรนด์ Omega กับนาฬิการุ่น Speedmaster ซึ่งในเวลาต่อมามีชื่อเล่นว่า Moonwatch
Bulova Apollo15 Moonwatch : มีตำนานในราคาคบหาได้
Bulova Apollo15 Moonwatch เป็นที่รู้จักกัน หลังจากที่นักบินอวกาศในโครงการ Apollo 11 พามันไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้มีแค่ Omega เท่านั้นที่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น Moonwatch แต่ยังมีอีกแบรนด์อย่าง Bulova ที่ได้มีโอกาสไปดวงจันทร์ด้วย
แม้ว่าจะไม่เป็นทางการก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องของนาฬิกากับความเกี่ยวข้องในการเดินทางไปยังดวงจันทร์ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแบรนด์ Omega กับนาฬิการุ่น Speedmaster ซึ่งในเวลาต่อมามีชื่อเล่นว่า Moonwatch หลังจากที่นักบินอวกาศในโครงการ Apollo 11 พามันไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้ว
แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้มีแค่ Omega เท่านั้นที่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น Moonwatch แต่ยังมีอีกแบรนด์อย่าง Bulova ที่ได้มีโอกาสไปดวงจันทร์ด้วย เจ้า Bulova Apollo15 Moonwatch แม้ว่าจะไม่เป็นทางการก็ตาม นั่นคือ ที่มาของ Moonwatch ในแบบฉบับ Bulova ที่มีการทำ Re-Issue ออกมาขายเมื่อปลายปี 2016 และได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั่วโลกได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะเป็นนาฬิกาที่มีประวัติศาสตร์ แถมในช่วงก่อนเปิดตัว Bulova Moonwatch เรือนดั้งเดิมที่ติดข้อมือไปดวงจันทร์ยังสามารถประมูลขายไปได้มากถึง 1.625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 56.8 ล้านบาทเลยทีเดียว
นาฬิการุ่นนี้มากับ Ref. 96B251 ในรุ่นสายหนัง และ Ref. 96B258 สำหรับสายเหล็ก ซึ่งเป็นการ Re-Issue จากต้นฉบับที่ทางผู้พัน David Scott นักบินอวกาศในโครงการ Apollo 15 พามันไปดวงจันทร์เมื่อปี 1971 โดยเหตุผลก็เพราะว่า Omega Speedmaster ที่เป็นอุปกรณ์ประจำกายของเขาเกิดพังในระหว่างการฝึกซ้อม และทำให้เขาต้องนำนาฬิกาสำรองซึ่งก็คือ Bulova Chronograph ที่มีหน้าตาคล้ายกับ Speedmaster ติดตัวไปแทน
นั่นคือครั้งแรกและครั้งเดียวที่ Bulova ได้ไปดวงจันทร์ แถมยังพิเศษกว่าตรงที่นอกจากผู้พัน Scott จะเป็นคนที่เดินบนดวงจันทร์แล้ว เขายังเป็นมนุษย์อวกาศคนแรกที่ได้ขับ Lunar Rover นั่นเท่ากับว่า Bulova มีความพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกข้อที่ไม่เหมือนใคร
สารภาพเลยว่าตอนที่ผมเห็นนาฬิกาเรือนนี้พร้อมกับมีคำว่า Moonwatch ติดมาด้วย คือ อึ้งในความสวย แล้วจากนั้นพยายามที่จะค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการดูว่าสรุปแล้ว นอกจาก Omega แล้วยังมีแบรนด์อื่นได้สิทธิ์รุกล้ำเข้ามามีส่วนในพื้นที่ตรงนี้ของพวกเขาด้วยหรือ จนกลายเปน็น็นจุดที่ทำให้ผมเกิดความสนใจกับเจ้า Moonwatch Re-Issue เรือนนี้
จริงๆ แล้วในตลาดเมืองนอกซึ่งเท่าที่ดูจาก eBay มันมีหลายแบบหลายเวอร์ชันทั้งสายหนังที่มาพร้อมกับเซ็ต ซึ่งแถมไขควงและสายผ้านาโต้สำหรับเอาไว้ใช้กับชุดนักบินอวกาศ รวมถึงเวอร์ชันสายเหล็ก แต่สำหรับบ้านเรา เท่าที่ทราบและลองเช็คดูปรากฏว่ามีขายเฉพาะแบบแรกใน 2 แพ็คเกจ โดยแบบแรกคือขายกับกล่องใบเล็กๆ เหมือนกับเมืองนอก มีไขควงและสายนาโต้ แต่อีกชุดที่พิเศษกว่าคือการทำเป็น Big Box ที่ใหญ่และหนักพอๆ กับ Big Box ของ Omega Speemaster 1861 เลย ซึ่งผมต้องรอนานร่วม 4 เดือนกว่าจะได้มาครอบครอง
ถามว่าโอเคใหม่กับแพ็คเกจที่ได้มา คำตอบคือ เฉยๆ ถึงขั้นติดลบนิดหน่อยด้วยซ้ำ เพราะมันใหญ่แค่กล่อง แต่สิ่งที่อยู่ข้างในกลับไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจากเวอร์ชันปกติ ไขควง สายนาโต้ และสมุดภาพเล่มเล็กๆ ทุกอย่างมีเหมือนกันหมด ยกเว้นขนาดของกล่องใหม่แบบ Limited แบบไทยๆ ที่ทั้งใหญ่และหนัก แถมยังเก็บลำบากด้วย เรียกว่าอลังการแค่ขนาด แต่กลับไม่เกิดอาการ ‘ว้าว’ เมื่อกล่องนี้เดินทางมาถึงมือผมสักเท่าไร
นั่นคือแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ซึ่งถ้าถามผมว่าถึงขั้นทำให้ผิดหวังไหม ? มันก็ไม่นะ เพียงแต่ตอนที่รับทราบมาว่าในไทยจะมีการผลิตกล่องพิเศษ และผมต้องนั่งรอโดยที่ไม่กดปุ่ม Add to Cart ใน eBay นานถึง 4 เดือน พอได้เห็นของจริงแล้วไม่ปัง ก็เลยผิดหวังนิดหน่อยเท่านั้นเอง
เอาละบ่นเรื่องแพ็คเกจมาพอละทั้งที่ก็ไม่ได้จ่ายเพิ่มจากรุ่นปกติเท่าไรเลย มาดูในแง่รายละเอียดของตัวนาฬิกากันบ้าง ซึ่งเมื่อตอนที่ดูรูปในอินเตอร์เน็ต ผมค่อนข้างโอเคกับ Moonwatch ของ Bulova มาก ด้วยรูปแบบที่คล้ายกับ Speedmaster ในการเป็น Chronograph แบบ 3 วง แถมด้วย Tachymeter แบบฟิล์มสีดำ ที่ต่างจากของ Omega ตรงนี้ มันถูกซ่อนเอาไว้ใต้กระจกแบบ Sapphire ที่มีการเคลือบ AR ตัดแสงสะท้อน เรียกว่ารายละเอียดในการออกแบบคงสไตล์และแบบมาจากรุ่นดั้งเดิม
ตัวเรือนผลิตจากแสตนเลส 316L แบบขัดละเอียดให้ความรู้สึกแบบด้านๆ และขนาด 45 มิลลิเมตรก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรให้กับข้อมือผม และเมื่อพลิกด้านหลังก็จะพบกับความพิเศษด้วยข้อความแสดงถึงวันเดือนปีในการเดินทางของโครงการ Apollo 15 ที่ถูกสลักอยู่บนฝาหลังแบบขันเกลียว
สำหรับตัวกลไก แน่นอนว่าเป็นควอตซ์แบบ High-Performance โดยใช้กลไกซึ่งเดินด้วยความถี่ 262 kHz ซึ่งถูกเรียกว่า UHF-Ultra High Frequency พร้อมกับโหมดการจับเวลาได้นานถึง 1 ชั่วโมง และมีหน้าจอย่อยจับละเอียด 1/10 วินาที
แน่นอนว่าถ้าไม่นับเรื่องความผิดหวังที่กล่อง สารภาพเลยว่า ผมตกหลุมรักกับเจ้า Bulova Moonwatch ทันทีที่เปิดกล่องออกมาเจอ จนกระทั่งความรู้สึกนี้ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ หลังจากที่ได้สัมผัสมากขึ้นเรื่อยๆ (แต่ยังไม่ลดลงมากถึงขั้นหมดรักนะ)
ข้อแรก…ผมไม่ได้ซีเรียสที่ออกแบบปุ่มกดการหยุดหรือจับเวลาแบบเป็นครีบ แค่รู้สึกกดแล้วไม่คุ้นมือมากเท่ากับแบบเป็นปุ่มยื่น แต่ที่ไม่ค่อยโอเคก็ตรงที่มันดันมีเสียงก๊อกแก๊กเหมือนกับไม่แน่นของปุ่มตรงนี้ตลอดเวลาที่ผมขยับมือ (ปกติผมเป็นคนที่ชอบหมุนมือแบบควงสว่างตอนว่างๆ เพราะติดจากการใส่นาฬิกาอัตโนมัติ) และเมื่อลองจับปุ่มที่มีรูปทรงเหมือนกับปีก มันเหมือนจะหลวมๆ ขยับๆ ได้ ถ้าจะบอกว่าเป็น Defect เฉพาะเรือนที่ผมได้มา ก็จะได้ใจชื้น เพราะอย่างน้อยยังมีโอกาสแก้หาย
ประการต่อมา คือ สายหนังที่ทำลวดลายคล้ายกับลายสานของคาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้รู้สึกผิดหวังมากกับคุณภาพ และดูแล้วไม่ค่อยสมราคาเท่าไร จนทำให้ผมต้องหันกลับไปดูป้ายราคาอีกครั้งว่าผมซื้อนาฬิกาหลักพัน หรือนาฬิการะดับ 27,000 บาทมากันแน่ (ถึงแม้จะไม่ได้ซื้อมาเต็มราคาก็เถอะ) แต่ประเด็นนี้ก็ถูกปัดตกไปอย่างรวดเร็วเพราะยังไงผมก็เปลี่ยนสายหนังใหม่อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม มันทำให้เกิดความเซ็งต่อเนื่อง เพราะสายของ Bulova Moonwatch ถอดยากโคตรๆ ทำเอาผมที่เปลี่ยนสายนาฬิกาเป็นว่าเล่นมาตลอด 6 ปีถึงกับหมดความมั่นใจว่า ‘กูทำอะไรผิดขั้นตอนหรือเปล่าวะ’ ด้วยความแข็งของหัวสายบวกกับความฟิตที่หน้ากว้างของสายแทบจะพอดีกับขาสายทำให้ไม่มีช่องว่างที่ผมจะใช้ไขควงคู่บุญแทรกเบียดเข้าไปเพื่อกดข้อสปริงบาร์ พยายามอยู่นานจนสุดท้ายกลัวเป็นรอย ก็เลยตัดสินใจใช้เครื่องมือที่ติดมาให้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังยากอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าหัวสายโดนผมบดมานานร่วม 10 นาทีจนอาจจะหลวมหรือนุ่มลง หรือตัวถอดที่ติดมาให้มีคุณภาพดี สุดท้ายก็เอาออกมาจนได้แบบเหงื่อตก
กับ Lug Width ที่มีขนาด 20 มิลลิเมตรบนตัวเรือน 45 มิลลิเมตร ทำให้ผมต้องสบถออกมาอีกครั้งว่า ‘อุตสาห์หนีจาก Sumo ยังมาเจอนาฬิกาแบบนี้อีกหรือวะเนี่ย’ ซึ่งบอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบนาฬิกาอ้วนๆ แต่ขาลีบๆ ซึ่งถ้าเป็นไซส์นสี้และความกว้างขาสายสัก 22 มิลลิเมตร ผมว่ากำลังสวยเลย หาสายสวยใส่ง่ายด้วย และยังดีที่รูยึดสปริงบาร์บนด้านในขาไม่ได้อยู่ต่ำจนเกินไปเหมือนกับ Sumo ไม่งั้นต้องมานั่งปวดหัวกับเรื่องของช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเรือนกับด้านบนของสายหนังกันอีก…แต่เอาเถอะมันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรจนถึงขนาดไม่ควักเงินซื้อ
ในส่วนของกลไกเป็นอีกเรื่องที่เปลี่ยนจากตัวต้นฉบับซึ่งเป็นแบบอัตโนมัติมาเป็นแบบควอตซ์ความถี่สูง UHF ที่หลายคนอาจจะประทับใจกับความเนียนนิ่มของเข็มวินาทีที่ปรากฏอยู่ในรุ่น 3 เข็มปกติ แต่กับตัวโครโนกราฟ ผมกลับรู้สึกว่าไม่ได้เนียนขนาดนั้น ยังมีอาการเดินกระตุกเหมือนนาฬิกาควอตซ์ให้เห็น ถามว่าเสียอารมณ์ไหม อันนี้ก็ต้องบอกว่าเฉยๆ อีกเช่นกัน แต่ถ้าทำให้เดินเนียนกว่านี้ได้ ก็จะดีนะครับ
ส่วนในเรื่องความเที่ยงตรงนั้น ถ้าคุณบอกว่าเครื่องควอตซ์ทั่วไปแม่นยำอยู่แล้ว กลไกของ Bulova รุ่นนี้ก็มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นไปอีก ว่ากันว่าเดินเพี้ยนเพียงปีละ 10 วินาทีเท่านั้น โดยแท่งควอตซ์สั้นระรั่วด้วยความถี่ในระดับ 262 กิโลเฮิร์ตซ์ ตามตัวเลขที่อยู่บนวงย่อยในตำแหน่ง 6 นาฬิกา แต่นั่นก็แลกมาด้วยอายุแบตเตอรี่ที่อาจจะไม่ยาวนานจนถูกใจใครหลายคน ซึ่งข้อมูลจากเว็บเมืองนอกบอกแค่ 2 ปีโดยประมาณเท่านั้น
ในแง่ของการใช้งานระบบ Chronograph เมื่อกดปุ่มจับเวลาเข็มยาวจะเดินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในวงหน้าปัดย่อยตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา จะมีการหมุนของเข็มอย่างรวดเร็ว และเมื่อผ่าน 30 วินาทีเข็มนี้ก็จะมาหยุดอยู่ตรงตำแหน่งปกติ แต่ระบบก็ยังทำงานต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบนอกจากหน้าตาโดยรวม และ ‘อะไรก็ตาม’ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ คือ รายละเอียดของชุดหน้าปัด ซึ่งมีการออกแบบให้เป็น 2 ชั้น ซึ่งถ้าเพ่งดูแล้วจะพบว่ามันมีการแบ่งระดับของพื้นหน้าปัดหลักที่มีหลักชั่วโมง และพื้นหน้าปัดในส่วนของวงจับเวลา ซึ่งทำให้ดูแล้วมีมิติมาก
สำหรับแพ็คเกจสุดอลังการ ณ ตอนนี้ ผมคิดว่าน่าจะไม่สามารถหาได้ หลังจากที่พรีออร์เดอร์และรับของกันไปตั้งแต่ต้นปี 2017 แต่ถ้าคุณไม่ซีเรียสกับกล่องที่ใหญ่เกินตัวแต่ไม่มีลูกเล่นอะไร และเน้นความง่ายในการหลบเมียนำนาฬิกาเข้าบ้าน หรือไม่กินพื้นที่ในการเก็บกล่องนาฬิกา ผมแนะนำให้มองหาตามเว็บไซต์ขายนาฬิกาได้ กับราคาที่คิดว่ารับได้ เกิน 20,000 บาทไม่ถึงหลักร้อย
แต่ทางที่ดีก่อนซื้อไปลองทาบดูก่อน เพราะถ้าข้อมือต่ำกว่า 6.5 นิ้ว ผมไม่แนะนำ เนื่องจาก Lug-to-Lug เกิน 50 มิลลิเมตร ยกเว้นคุณไม่แคร์เรื่องล้นข้อ
Bulova Apollo15 Moonwatch : มีตำนานในราคาคบหาได้
- เส้นผ่าศูนย์กลาง : 45 มิลลิเมตร
- ความหนา : 13.5 มิลลิเมตร
- Lug-to-Lug : 52 มิลลิเมตร
- ความกว้างขาสาย : 20 มิลลิเมตร
- กันน้ำ : 50 เมตร
- กระจก : แซฟไฟร์ เคลือบสารกันสะท้อนแสง
- กลไก : ควอตซ์ UHF เดินด้วยความถี่สูง
- ความเที่ยงตรง : +/- 10 วินาทีต่อปี
- จุดเด่น : ความเที่ยงตรง ตำนาน หน้าปัดดีไซน์สวยมีมิติ ขนาดตัวเรือนใหญ่ แถมไขควง และสายนาโต้ที่ย่อแบบมาจากการใช้งานกับชุดนักบินอวกาศ
- จุดด้อย : เข็มวินาทีเดินยังไม่เรียบเมื่อเทียบกับรุ่น 3 เข็มปกติ ความกว้างขาสายน้อยไปหน่อย สายหนังติดนาฬิกาไม่ค่อยสมราคา
Fanpages : https://www.facebook.com/anadigiwatch