Bell&Ross BR03-92 Diver มาพร้อมกับหน้าปัดสีส้ม ซึ่งมีการผลิตเพียง 250 เรือนถือเป็นนาฬิกาที่น่าสนใจ เพราะนอกจากสีสันบนหน้าปัดที่สวยสะดุดตาแล้ว ยังถือเป็นครั้งแรกในวงการนาฬิกาดำน้ำที่เราได้เห็นนาฬิกาประเภทนี้มากับตัวเรือนทรงเหลี่ยม และถ้าคุณกำลังเล็งนาฬิการุ่นนี้เอาไว้ ลองอ่านรีวิวดูก่อน แล้วค่อยตัดสินใจ
Bell&Ross BR03-92 Diver กล้าไหมกับการเลือกที่ไม่เหมือนใคร
-
พลิกโฉมรูปแบบนาฬิกาดำน้ำมาสู่ตัวเรือนทรงเหลี่ยมพร้อมความสามารถในการกันน้ำ 300 เมตร
-
ตัวเรือนผลิตจากสตีลและมีรูปทรงรวมถึงขนาดที่ถอดแบบมาจากรุ่น BR03-92
-
ผลิตเพียง 250 เรือนแต่ไม่มีการระบุเลขในการผลิตบนตัวเรือน นอกจากจะต้องดูจาก Ref.No. บนฝาหลัง
เมื่อพูดถึงชื่อ Bell&Ross แล้ว คนส่วนใหญ่จะนึกถึงนาฬิกาทรงเหลี่ยมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมาตรวัดหรืออุปกรณ์วัดค่าต่างๆ ที่อยู่บนหน้าปัดของเครื่องบิน และนั่นทำให้คิดเหมากันไปเอาเองว่า พวกเขาคงต้องผลิตนาฬิกาที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานเป็นหลัก ทั้งที่จริงๆ แล้วแบรนด์นี้มี Know How ของการผลิตนาฬิกาดำน้ำด้วยเช่นกัน และ BR 03-92 Diver คือ หลักฐานชั้นดีของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของพวกเขานับจากเริ่มผลิตนาฬิกาดำน้ำครั้งแรกในปี 1997
Bell&Ross เป็นแบรนด์นาฬิกาที่ผมชื่นชมอยู่ห่างๆ มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกันสักที เหตุผลคงเป็นเพราะผม (ในตอนนั้น) ยังไม่ค่อยชอบใส่นาฬิกาตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมสักเท่าไร และเมื่อบวกกับรูปแบบของสายที่ในความคิดเห็นของผมที่ดูแล้วไม่น่าจะเหมาะกับการสวมใส่กับตัวเอง และเป็นเรื่องยากที่จะ Mix&Match กับเครื่องแต่งกายหรือสไตล์การแต่งตัว ดังนั้น ก็เลยทำเมินๆ ไป จนกระทั่งผมมาทำเว็บ Ana-Digi.com นี่แหละ ได้เห็นนาฬิกาใหม่ๆ จากแบรนด์นี้บ่อยครั้งขึ้น บวกกับความที่ซื้อนาฬิกาแบบใช้ใจเป็นตัวตัดสิน ก็เลยตั้งเป้าว่าจะต้องมี Bell&Ross ในกรุสักเรือนให้ได้ และก็เป็นที่มาของ BR03-92 Diver เรือนนี้
ก่อนที่จะไปถึงตัวนาฬิกา ขอเล่าเรื่อง Bell&Ross กับนาฬิกาดำน้ำให้ฟังกันก่อน เพราะอย่างที่เขียนตั้งแต่ต้นเรื่องหลายคนอาจจะคิดว่าแบรนด์นี้ทำแต่นาฬิกาทรงเหลี่ยมที่อ้างอิงกับเรื่องความเร็วหรือพวกนักบิน ทั้งที่ความจริงแล้ว การผลิตนาฬิกาดำน้ำของพวกเขาแทบจะเกิดขึ้นพร้อมกับแบรนด์เลย โดย Bell&Ross ถือกำเนิดในปี 1992 แต่นาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของพวกเขาเปิดตัวในปี 1997 นั่นคือ Hydromax ที่มีสถิติเป็นนาฬิกาดำน้ำที่มีตัวเลขการกันน้ำสูงสุดถึง 11,100 เมตร
จากนั้นในปี 2007 ทางแบรนด์ได้เปิดตัวนาฬิการุ่น BR02 ที่มาพร้อมกับตัวเรือนทรงถัง (Barrel-Shaped) และได้รับการติดตั้ง Helium Escape Valve เพื่อช่วยระบายก๊าซฮีเลียมในระหว่างการดำน้ำในรูปแบบ Saturation และนับจากนั้นเป็นต้นมา Bell&Ross ก็เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ในการผลิตและพัฒนานาฬิกาดำน้ำและมีการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งมาถึงรุ่นปัจจุบันอย่าง BR03-92 Diver ที่เปิดตัวในปี 2017 ถือว่าเป็นนาฬิกาดำน้ำรุ่นหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และเกิดมาเพื่อการใช้งานของนักดำน้ำอย่างแท้จริง
BR03-92 Diver มีตัวเรือนที่ใช้วัสดุให้เลือกซื้อหลากหลาย ทั้งเซรามิก บรอนซ์ และสตีล ซึ่งจริงๆ แล้วผมชอบบรอนซ์มาก แต่ด้วยราคาที่ขยับไปค่อนข้างสูง และส่วนตัวอยากได้หน้าปัดสีส้มเพื่อให้สมกับการเป็นนาฬิกาดำน้ำ ดังนั้น ทุกอย่างก็เลยมาจบที่รุ่นหน้าปัดสีส้ม หรือ BR03-92 Diver Orange Dial บนตัวเรือนที่ผลิตจากสแตนเลสสตีล
นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวในปี 2019 และมีการผลิตออกมาเพียง 250 เรือนเท่านั้น โดยจะจำหน่ายผ่านทาง e-Boutique เท่านั้น ดูแล้วอาจจะถือว่าเป็นรุ่นที่เก่านิดนึงเมื่อดูจากช่วงเวลาเปิดตัว แต่ถ้ามองในแง่ของความสอดคล้องกับเงื่อนไขความต้องการของตัวเองแล้ว ทุกอย่างลงตัวมาก
BR03-92 Diver อยู่ในตระกูล BR03-92 ดังนั้นจึงถอดแบบรูปทรงแบบเหลี่ยมที่เป็น Iconic ของแบรนด์อย่างรุ่น BR01 มาทั้งหมด แต่ปรับจากนาฬิกาสำหรับการใช้งานทั่วไปมาเป็นนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำมืออาชีพ และมีคุณสมบัติที่สามารถผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนดของ ISO6425 และต้องบอกว่ามีไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นนาฬิกาดำน้ำที่มากับตัวเรือนทรงเหลี่ยม ถ้าไม่นับบรรดาพวก Dive Comp ทั้งหลาย
ขนาดตัวเรือนเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้าง 42 มิลลิเมตร ส่วนความยาวถ้าไม่นับขาสายก็ 42 มิลลิเมตร แต่ถ้านับรวมไปด้วยแล้วมีขนาด 51 มิลลิเมตรเลยทีเดียว ดังนั้น ใครที่เป็นคนที่ชอบซื้อนาฬิกาด้วยการมองเพียงแค่ตัวเลขของเส้นผ่านศูนย์กลาง และคิดว่าอารมณ์ที่ได้จากการสวมใส่นาฬิกาทรงกลมและตัวเรือนเหลี่ยมจะเหมือนกัน คงต้องบอกว่า ท่านกำลังคิดผิดมหันต์ และไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมนาฬิกาตัวเรือนทรงเหลี่ยมมักจะมีตัวเลขเส้นผ่านศูนย์กลางที่ไม่เยอะ ประมาณ 39-42 มิลลิเมตร เพราะถ้าเกินจากนี้ เรียกว่าข้อมือไม่ใหญ่จริง มีล้นและใส่ไม่สวยอย่างแน่นอน
ผมกับเจ้า BR03-92 Diver ก็เช่นเดียวกัน และคิดไม่ผิดที่ตัวเองเลือกไซส์ 42 มิลลิเมตรซึ่งดูแล้วลงตัวกับข้อมือไซส์ 7 นิ้วของตัวเองมาก เพราะก่อนหน้านี้คิดจะเลือกไซส์ที่ใหญ่กว่านั้นอย่าง เพราะมั่นใจในขนาดข้อมือและความรู้สึกของตัวเองที่โนสนโนแคร์กับการสวมนาฬิกา Super Oversized แต่โชคดีที่ตัว Diver มีแค่ขนาด 42 มิลลิเมตร ไม่อย่างนั้นน่าจะเกิดการตัดสินใจผิด จนอาจจะเกิดอาการล้นข้ออย่างแน่นอน เพราะจะว่าไปแล้ว BR03-92 Diver คือ นาฬิกาทรงเหลี่ยมเรือนแรกของผมเลยก็ว่าได้
อย่างที่บอกว่า BR03-92 Diver มีหลากหลายวัสดุในการผลิตตัวเรือน แต่สำหรับนาฬิกาเรือนนี้มากับตัวเรือนแบบสแตนเลสสตีลที่มีการขัดเงาสลับด้าน โดยพื้นผิวด้านบนที่เป็นส่วนของตัวเรือนนาฬิกาจะเป็นแบบขัดด้าน สลับกับขอบที่เป็นเงาและขาสายที่เป็นแบบลายซาตินได้อย่างสวยและลงตัวเลยทีเดียวให้อารมณ์ที่แตกต่างจากตัวเรือนเซรามิกที่ผมเคยมีโอกาสได้สัมผัสมาก่อน
สิ่งที่ผมค่อนข้างแปลกใจคือ แม้ว่า BR03-92 Diver จะเป็นนาฬิกาดำน้ำที่ผ่านมาตรฐาน ISO6425 แต่เมื่อพลิกดูด้านหลังจะพบว่าตัวนาฬิกายังใช้น็อตขัน ไม่ใช่ขันเกลียวเหมือนกับนาฬิกาดำน้ำทั่วไป ส่วนตัวผมไม่ได้ติดหรือขัดข้องอะไรนะครับเพราะถ้าผ่านได้ แสดงว่าไม่ว่าจะขันน็อตหรือขันเกลียว มันก็ต้องมีมาตรฐานของมันและถ้าผ่านจนได้การรับรองได้ ทุกอย่างก็จบ ไม่ได้มีอะไรคาใจ
นอกจากนั้น อีกสิ่งที่แตกต่างคือรายละเอียดของฝาหลังก็จะแตกต่างออกไปจากกลุ่มที่ใช้บรอนซ์ในการผลิตตัวเรือน ซึ่งพวกบรอนซ์จะมากับภาพของหมวกดำน้ำยุคแรกๆ ขณะที่ในรุ่นนี้จะเป็นรายละเอียดของตัวนาฬิกาแบบเดียวกับที่พบได้ในรุ่นทั่วไป
เมื่อเปรียบเทียบกับ BR03-92 ทั่วไป คุณจะพบกับความแตกต่างในแง่การออกแบบอย่างชัดเจน นอกจากความสามารถในการกันน้ำที่ขยับขึ้นมาเป็น 300 เมตรแล้ว ตัวเรือนจะมี Crown Guard พร้อมกับการสลักทิศทางในการหมุนเพื่อคลายล็อกเม็ดมะยม ตัวกระจก Sapphire แบบเคลือบสารกันการสะท้อนแสงในรุ่น Diver มีการเพิ่มความหนาเป็น 2.82 มิลลิเมตร ขณะที่รุ่น BR03-92 จะมีขนาดแค่ 1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น
ตามด้วยรายละเอียดบนหน้าปัดและรูปทรงของชุดเข็มทั้งชั่วโมง นาที และวินาทีถูกเปลี่ยนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานใต้น้ำและดูสวยขึ้น พรายน้ำถือว่าทำได้ดีในแง่ของการเก็บแสงและส่องสว่างออกมา ซึ่งถ้า Seiko ยืนหนึ่งในเรื่องความสว่าง ความไว และความนานในการส่องสว่างของพรายน้ำ BR03-92 Diver น่าจะมีสกอร์อยู่ราวๆ 7-8 คะแนน
แม้ว่าตัวนาฬิกาจะมากับราคาป้ายในระดับ 130,000 บาทบวกลบและหลายคนอาจจะคาดหวังในเรื่องของสเป็กที่จะต้องสูงตาม แต่บอกตามตรงเลยว่าผมกลับคิดสวนทาง และค่อนข้างชอบนะครับที่อินเสิร์ตบนของตัวเรือนของนาฬิกาเรือนนี้ยังเป็นอะลูมิเนียม ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นเซรามิกเหมือนกับความคาดหวังของลูกค้าบางคน เพราะส่วนตัวผมมองว่าเจ้า BR03-92 Diver คือ Tool Watch ที่เกิดมาเพื่อการใช้งานอย่างแท้จริง ไม่ใช่พวก Desk Diving Watch ดังนั้น อะไรที่เหมาะสมกับการใช้งาน ผมไม่ติด ไม่จำเป็นต้องประดับประดอยด้วยวัสดุที่เกินจำเป็นสำหรับการใช้งาน
แต่ในทางกลับกันกับราคาประมาณนี้ ส่วนตัวผมว่า Bell&Ross น่าจะมีทางเลือกของกลไกที่ดีกว่านี้หน่อย โดยเฉพาะในแง่ของกำลังสำรอง ถ้าคุณเป็นแฟนของแบรนด์นี้ กลไกของพวกเขาส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับการปรับปรุงจาก Outsourced Movement อย่าง Sellita ซึ่ง BR03-92 Diver มากับกลไกในรหัส BR-Cal.302 ที่ใช้พื้นฐานของรุ่น SW-300 ซึ่งจริงๆ ก็อยู่บนพื้นฐานของ ETA 2892 และมีกำลังสำรองอยู่ที่ 38 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งกับนาฬิกาในยุคปัจจุบัน และมีราคาอยู่ในระดับนี้ผมว่าตัวเลขน่าจะต้องสูงกว่านี้แล้ว
จุดต่อมาที่ต้องใช้คำว่ากังวลแทนคำว่าไม่ถูกใจคือ การใช้วงแหวนยางรัดรอบเม็ดมะยม เข้าใจนะครับว่ามันทำให้กระชับมือเวลาที่หมุนผ่านทางมือที่สวมถุงมือดำน้ำอยู่ แต่ในระยะยาวผมว่าไม่เวิร์ค และกับนาฬิกาดำน้ำในยุคนี้ผมว่าไม่น่าจะเอามาใช้กันแล้ว เพราะยางมีความเสี่ยงต่อการสึกหรอเมื่อใช้ไปนานๆ แต่เหนืออื่นใด ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ในเชิงลบกับเม็ดมะยมที่มีวงแหวนยางรัดรอบมาก่อน ผมคิดว่าไม่น่าจะชอบเม็ดมะยมสไตล์นี้อย่างแน่นอน เพราะเมื่อใช้ไปนานๆ กาวที่ยึดเม็ดมะยมกับวงแหวนยางเสื่อมลง เมื่อหมุนก็มีโอกาสหลุดออกมา ถ้าโชคดียังคาอยู่กับเม็ดมะยมก็อาจจะให้ร้านป้ายกาวยึดใหม่ได้ แต่ถ้าไม่อยู่ละ งานนี้ได้เปลี่ยนเม็ดมะยมใหม่อย่างแน่นอน
สิ่งต่อมาคือ ความไม่ชอบแต่สุดท้ายก็มีทางออก นั่นคือ รูปทรงของสายยางที่ Bell&Ross เมื่ออยู่บนข้อมือผมมีความรู้สึกมันเป็นแท่งๆ ยังไงพิกล แม้ว่าจะลองพยายามปรับความรู้สึกก็แล้ว แต่สุดท้ายผมก็ต้องหาสายที่มีความกว้าง 24 มิลลิเมตรมาแทน ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวนาฬิกามีความเด่นขึ้นมาเวลาคาดอยู่บนข้อมือ
อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวผมไม่ชอบสายที่เป็นลักษณะบากหัว (สายหน้ากว้าง 34 มิลลิเมตรแต่บาก 24 มิลลิเมตรเพื่อเข้ากับร่องความกว้างขาสาย) เพราะมันจะทำให้ตัวนาฬิกาและสายเป็นแท่งๆ แถมการลดหลั่นความกว้างของสาย Bell&Ross ยังเป็นแบบลดค่อนข้างเยอะ (ลดลงมาที่หัวเข็มขัด 24 มิลลิเมตร) มันก็เลยดูแปลกๆ ไปหน่อย แต่กับสายผ้าไนลอนที่แถมมาด้วยผมกลับไม่เกิดอาการแปลกๆ แบบนี้นะ
และกับรูปแบบของสปริงบาร์ที่ยึดสายเป็นแบบน็อตยึดที่ต้องใช้เครื่องมือไขเข้าและออก เวลาเปลี่ยนสายแต่ละครั้งไม่ง่ายเลย ดังนั้น ผมต้องลองใช้ไปสักระยะเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสายยางเดิมที่ติดมานั้นไม่โดนใจจริงๆ แล้วจึงตัดสินใจเปลี่ยนเพราะถ้าไขเข้าไขออกบ่อย สิ่งหนึ่งที่ผมกังวลนอกเหนือจากรอยที่อาจจะเกิดขึ้นบนขาสายคือ การรูดของรูบนหัวน็อต ซึ่งส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบการใช้สปริงบาร์รูปแบบนี้สักเท่าไร
นาฬิกาเรือนนี้ผลิตและจำหน่ายในแบบ Boutique และ e-Boutique Edition ผลิตเพียง 250 เรือนสำหรับขายผ่านทางบูติกและออนไลน์เท่านั้น โดยด้านหลังไม่ได้มีการสลักจำนวนการผลิตจากเรือนที่ผลิตเหมือนกับ Limited Edition ทั่วไป แต่คุณสามารถดูได้จากตัวเลข 3 หลักสุดท้ายของ Reference Number ได้
ส่วนตัวผมชอบ Bell&Ross อยู่แล้ว ถ้าถามว่าน่าสนใจไหม แน่นอนว่าผมต้องบอกว่าน่าสนใจอย่างมาก เพราะนาฬิกาเรือนนี้ถูกเคลมเอาไว้ว่าเป็นนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกของแบรนด์ และของโลก แถมสีส้มกับ Bell & Ross เป็นสีที่ค่อนข้างหายากมาก ขณะที่ตัวเรือนทรงเหลี่ยมถือว่ามีดีไซน์และเป็น Iconic ของแบรนด์ แม้จะจุดที่ผมไม่แฮปปี้ในบางจุดตามที่อธิบายข้างบน แต่โดยส่วนตัวแล้ว เป็นนาฬิกาอีกรุ่นที่ผมค่อนข้างแฮปปี้ครับ
รายละเอียดทางเทคนิค : Bell & Ross BR03-92 Diver Orange Dial
- เส้นผ่านศูนย์กลาง : 42 มิลลิเมตร
- ความหนา : 12 มิลลิเมตร
- วัสดุตัวเรือน : สตีล
- กระจก : Sapphire เคลือบสารกันการสะท้อนแสง
- กลไก : อัตโนมัติรหัส BR-Cal.302
- ความถี่ : 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง
- กำลังสำรอง : 38 ชั่วโมง
- การกันน้ำ : 300 เมตร
- ประทับใจ : ดีไซน์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ความเป็น Unique ของแบรนด์
- ไม่ประทับใจ : สเป็กที่อาจจะดูน้อยไปหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับราคา การใช้วงแหวนยางบนเม็ดมะยม
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline