B-Uhr มรดกจากสงครามโลกครั้งที่ 2

0

เรามักเรียก B-Uhr ว่าเป็นนาฬิกานักบินกันอย่างติดปาก แต่ความจริงแล้ว นี่คือนาฬิกาที่ถูกพัฒนามาเพื่อต้นหนหรือ Beobachtungs-Uhren สำหรับภารกิจในการทิ้งระเบิด และ B-Uhr เป็นมรดกที่มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง

- Advertisement -

B-Uhr มรดกจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ยอมรับว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1939-1945 นั้น คือมหาสงครามที่ก่อให้เกิดการทำลายล้างและความสูญเสียในหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ตรงนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่างด้วยเช่นกัน ระเบิดปรมาณู รถจี๊ป Land Rover และก็รวมถึงแวดวงของนาฬิกาซึ่งมีการก่อกำเนิดนาฬิกาทั้งในแบบ Field Watch และ B-Uhr ซึ่งแบบหลังคือสิ่งที่เรากำลังจะเล่าถึง

อย่างที่เราทราบกันดีว่า B-Uhr นั้นถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานสำหรับนักบินหรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการบิน เพื่อใช้ในการดูเวลา ซึ่งถ้าจะย้อนหลังไปถึง นาฬิการุ่นไหนถูกพัฒนามาเพื่อการใช้งานด้านการบินเรือนแรกของโลก สิ่งที่เราเก็บข้อมูลกลับมาได้ส่วนใหญ่ระบุว่าเกิดขึ้นในปี 1904 ที่กรุงปารีส ในยุคที่การบินยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และ Alberto Santos Dumont ชาวบราซิลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกการบิน ได้มองเห็นถึงความจำเป็นของนาฬิกาที่เกี่ยวข้องกับการบิน และการใช้นาฬิกาพกซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนั้นมาประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกอย่างยิ่ง เขาจึงร้องขอให้ Louis Cartier ผลิตนาฬิกาข้อมือที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งานของเขาขึ้นมา

การพัฒนานาฬิกาเพื่อใช้ในวงการบินยังมีอยู่ต่อไป แต่ในตอนนั้น ยังไม่มีนาฬิกาแบรนด์ไหนวางรากฐานในการผลิตนาฬิกาสำหรับนักบินขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีแต่การปรับปรุงและพัฒนานาฬิกาของตัวเองเพื่อส่งให้กับนักบินที่ร้องข้อมาให้ช่วย…จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2

B-Uhr ก่อกำเนิด

อย่างที่เกริ่นตั้งแต่ต้นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาสักอย่าง สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาคือ การร้องขอให้ทำอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพเยอรมนีต้องบุกดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรป สิ่งที่พวกเขามีไม่ใช่แค่กองทัพบกที่เข้มแข็งและดุดันเท่านั้น กองทัพอากาศก็เป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญต่อยุทธวิธีในการรบ และแน่นอนว่าการที่จะนัดแนะหรือเตรียมพร้อมในการเข้าโจมตีก็ต้องมีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง นาฬิกาสำหรับการบิน หรือ B-Uhr ก็เลยเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกคิดขึ้นและถูกสร้างขึ้นมาเป็นมาตรฐานสำหรับกองทัพอากาศของพวกเขา ซึ่งเวลาและความแม่นยำในการดำเนินการรบเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

RLM หรือ Reichs-Luftfahrtministerium หรือกระทวงที่ดูแลในเรื่องของการคมนาคมทางอากาศ ได้กำหนดรูปแบบมาตรฐานสำหรับใช้ในฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน เพราะในช่วงนั้นยังถือว่าเป็นช่วงต้นๆ ของแวดวงการบิน แต่กองทัพอากาศเยอรมนีก็ได้มีการกำหนดมาตรฐานสำหรับนาฬิกาที่เรียกว่า Beobachtungs-Uhren หรือ Observation Watches ซึ่งมีตัวย่อว่า B-Uhr สำหรับใช้กับต้นหนขึ้นมา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึง

ร่างต้นแบบของการออกแบบนาฬิการุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมาในปี 1935 หรือก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น แต่ด้วยการมองเห็นว่าสงครามจะเกิดขึ้นแน่นอนทาง Adolf Hitler ก็ได้สั่งเตรียมการในด้านต่างๆ รอเอาไว้และกองทัพ อากาศก็คือหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม ร่างต้นแบบนั้นก็มีการแก้ไขและปรับปรุงเพราะว่าตัวนาฬิกามีลักษณะคล้ายกับนาฬิกาของ Charles Lindberg ที่สั่งให้ทาง Longines สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และหลังจากที่นำไปปรับแก้แล้วในที่สุดก็ได้ร่างของ B-Uhr หรือ B-Uhren (เอกพจน์กับพหูพจน์) ขึ้นมา

ตามสเป็กของกองทัพอากาศเยอรมนีนั้น นาฬิกา B-Uhr จะมีขนาดใหญ่มากในระดับเส้นผ่านศูนย์กลาง 55 มิลลิเมตรเพื่อความสะดวกในการมองเห็น กลไกมีการใช้ Balance Spring ของ Brequet และถูกล้อมรอบด้วยแผ่นเหล็ก เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันสนามแม่เหล็กที่จะส่งผลกระทบต่อตัวนาฬิกา เข็มทุกเข็มจะต้องวางอยู่ตรงกลางหน้าปัด ไม่มีวงย่อย หรือ Small Second แต่อย่างใด

อีกทั้งนาฬิกา B-Uhr จะต้องมีความเที่ยงตรงในระดับ Chronometer อีกทั้งตัวกลไกจะต้องสามารถหยุดหรือ Hack เข็มวินาทีได้เพื่อควาแม่นยำในการเปรียบเทียบเวลา เม็ดมะยมถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเพชร (Diamond Shape) เพื่อความสะดวกในการตั้งเวลาแม้ว่าจะสวมถุงมือ บนตัวสายแต่ละฝั่งจะมีการยึดด้วยหมุน 2 ตัวเพื่อความทนทาน และจะต้องมีสายยาวในระดับหนึ่งเพื่อความสะดวกในการคาดทับบนชุดนักบินซึ่งจะมีความหนาค่อนข้างมาก

หน้าปัดของ B-Uhr ตามข้อกำหนดจะเป็นแบบสีดำเท่านั้นจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ Type A และ Type B ซึ่งแบบหลังเพิ่งถูกผลิตตามออกมาในปี 1941 โดยทั้ง 2 แบบจะมีเครื่องหมายสามเหลี่ยมวางเอาไว้ในตำแหน่ง 12 นาฬิกา แต่ในรุ่น Type A จะมีจุด 2 จุดวางขนาบข้างตรงยอดแหลมของสามเหลี่ยม แต่ Type B จะไม่มีจุดนี้ แต่เปลี่ยนเป็นเส้นตรงที่อยู่กลางของเส้นฐานสามเหลี่ยมแทน ที่สำคัญบนหน้าปัดจะไม่มีโลโก้ของแบรนด์ใดๆ ประดับอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้รบกวนสายตา

สำหรับหน้าปัดแบบ Type A นั้นจะมีการแสดงตัวเลขของหลักชั่วโมงจนครบวง (ยกเว้นตำแหน่ง 12 นาฬิกาที่เป็นรูปสามเหลี่ยม) ในรูปแบบตัวเลขอารบิค ส่วน Type B จะมีวงย่อยด้านในเป็นหลักชั่วโมง และด้านนอกแสดงตัวเลขเป็นหน่วยวินาทีในทุกๆ 5 วินาที โดยเข็มสั้นที่เป็นเข็มชั่วโมงจะสั้นและอยู่ในกรอบของวงย่อยด้านใน ส่วนเข็มยาวก็จะยาวปกติ โดยทั้ง 2 เข็มจะมาในรูปทรงคล้ายกับดาบ

ในแง่ของการอ่านเวลาและแจ้งบอกนั้น หน้าปัดแบบ Type B จะง่ายที่สุด เพราะคุณสามารถมองเห็นทั้งตัวเลขในหลักชั่วโมง และนาทีโดยที่ไม่ต้องมานั่งเดาต่อว่าเข็มยาวอยู่ตรงไหนของนาที

นอกจากนั้นบนด้านข้างตัวเรือนจะมีการระบุรหัส ซึ่งเป็นหมายเลขกำกับในส่วนทะเบียนคลัง (Anforderz)  เอาไว้ว่า FL23883 โดย FL คือ Flieger หรือการบิน 23 คือ ยุทโธปกรณ์สำหรับใช้กับต้นหน หรือ Flight Monitoring และ 883 คือ รหัสการตรวจสอบโดย DVL หรือ Deutsche Versuchsanstalt für Luftfahrt ซึ่งจะต้องตรวจสอบความเที่ยงตรงและแม่นยำของนาฬิกา B-Uhr

นักบินจะต้องส่งนาฬิกาคืนให้กับกองทัพทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ส่วนการเทียบเวลามาตรฐานในขณะที่กำลังปฏิบัติการกับทีมงานภาคพื้นดินนั้นจะทำผ่านการส่งสัญญาณผ่านคลื่นวิทยุ และต้นหนต้องปรับเวลาตามสัญญาณที่ส่งมา (น่าจะเรียกว่าเป็น Radio Wave Controlled ยุคแรกๆ เลยก็ได้ว่าได้)

เมื่อพลิกดูด้านหลังแล้วเราจะพบกับข้อมูลต่างๆ ของนาฬิกาเรือนนั้น โดยจะมีการสลักประเภท (Bauart) หมายเลขการผลิต (Gerat-Nr) กลไก (Werk-Bez) หมายเลขกำกับในส่วนทะเบียนคลัง (Anforderz) และชื่อผู้ผลิต (Hersteller)

ในตอนนั้นบริษัทนาฬิกา 4 แห่งในเยอรมนี และอีก 1 แบรนด์จากสวิตเซอร์แลนด์จำเป็นต้องยุติการผลิตนาฬิกาสำหรับขายและหันมาผลิตนาฬิกาสำหรับส่งให้กับกองทัพแทน ซึ่งแบรนด์นาฬิกาที่ว่าก็คือ A.Lange&Sohne ตามด้วย Wempe, Lacher&Company/Durowe หรือ Laco และ Walter Storz หรือ Stowa

ส่วนอีก 1 ที่เป็นสวิสส์คือ IWC หรือ International Watch Company ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Schaffhausen ทางตะวันออกค่อนไปทางเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ใกล้กับเยอรนนี ซึ่งจะต่างจากแบรนด์นาฬิกาส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ

สำหรับกลไกที่นำมาใช้ในนาฬิกา B-Uhr เหล่านี้ จะแบ่งออกเป็น Cal.31 ของ Thomme สำหรับ Wempe ส่วน Stowa จะใช้กลไก Cal.2812 ของ Unitas ซึ่งเป็นแบรนด์สวิตเซอร์แลนด์ เฉพาะ A.lange และ Laco เท่านั้นที่จะใช้กลไก In-House ของตัวเอง โดยแบรนด์แรกใช้กลไก Cal.48 และ Laco ใช้กลไก Cal.5 ส่วน IWC ซึ่งรับผลิตนาฬิกาให้กับทั้งฝ่ายอักษะและสัมพันธมิตรนั้นจะใช้กลไก Cal.52T S.C. สำหรับนาฬิกาที่ส่งให้กับฝ่ายเยอรมัน

แม้ว่าอาณาจักรไรน์ที่ 3 จะรุ่งเรืองและล่มสลายอย่างรวดเร็วเพราะเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในด้านหนึ่งและกลายเป็นมรดกที่ตกทอดและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเป้าหมายในการใข้งาน และนาฬิกาแบบ B-Uhr ก็เป็นอีกมรดกที่ยังคงอยู่และมีให้เราเห็นอย่างต่อเนื่องผ่านแบรนด์ต่างๆ ไม่เฉพาะแค่ 5 แบรนด์ดั้งเดิมนี้เท่านั้น