Longines มีบทบาทในการพัฒนาอุปกรณ์จับเวลาที่มีความแม่นยำระดับสูง และพวกเขาได้นำองค์ความรู้เหล่านี้มาใช้กับกลไกที่เดินด้วยความถี่สูงสำหรับนาฬิกาข้อมือที่เปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่องนับจากทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา และในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับ Longines กับการทำงานของพวกเขาตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมาในโลกของการจับเวลาและการแข่งขันในด้านความเร็ว
กว่า 100 ปีของ Longines กับโลกการจับเวลาที่มีความแม่นยำระดับสูง
นับเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วที่ Longines ได้สั่งสมประสบการณ์ในการผลิตนาฬิกาที่มีความแม่นยำและเที่ยงตรงในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้พวกเขาสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญในการจับเวลา ในฐานะนาฬิกาสปอร์ตที่มาพร้อมกลไกซึ่งเดินด้วยความเร็วนี้สามารถแกว่งด้วยความถี่สูงถึง 1/10 หรือ 1/100 ต่อวินาที
นอกจากนั้น นาฬิกาจับเวลาของ Longines ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำในระดับสูงสุด และตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยพวกเขาได้รังสรรค์นาฬิกาจับเวลาคุณภาพสูงออกมามากมายทั้งนาฬิกาโครโนกราฟ และนาฬิกาที่ได้รับการรับรองระดับ Chronometer
และนี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาของ Longines ตลอดกว่า 100 ปีที่ผ่านมา
1914: นาฬิกาจับเวลาที่มาพร้อมกลไกความถี่สูงระดับ 5 Hz และเข็มวินาทีแบบแยกเข็ม [CAL. 19.73N]
ในปี 1914 ลองจินส์ได้ใช้กลไกความถี่สูงระดับ 1/10 ต่อวินาที บรรจุอยู่ในนาฬิกาจับเวลาแบบพก สำหรับการจับเวลาในการแข่งขันกีฬามากมาย ขับเคลื่อนด้วยกลไกคาลิเบอร์ 19.73N พร้อมด้วยการแกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง นาฬิกาโครโนกราฟนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในวงการกีฬา การทหาร และการแพทย์ โมเดลในภาพนี้มาพร้อมเข็มวินาทีแบบ split-second ซึ่งลองจินส์ได้เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในปี 1922 และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านค่าเวลา 1/10 ต่อวินาที เข็มโครโนกราฟจึงหมุนรอบหน้าปัดใน 30 วินาที ส่วนวงกลมหน้าปัดย่อย 15 นาทีนั้นตั้งอยู่ตำแหน่งด้านบนใกล้กับ 12 นาฬิกา |
1916: นาฬิกาจับเวลาที่มาพร้อมกลไกความถี่สูงระดับ 5 Hz ที่จับเวลาละเอียดสูงถึง 1/100 ต่อวินาที [CAL. 19.73N]
ในปี 1916 ลองจินส์มีความสามารถในการผลิตกลไกที่จับเวลาได้ละเอียดสูงถึง 1/100 ต่อวินาทีกลไกได้รับการ พัฒนาจากคาลิเบอร์ 19.73N โดยนักวิศวกรจากแซงต์-อิมิเยร์ได้พัฒนาปรับปรุงความเร็วให้อยู่ที่ 360,000 ครั้งต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงสามารถจับเวลาได้ละเอียดสูงถึง 1/100 ต่อวินาที เข็มโครโนกราฟจะหมุนรอบหน้าปัดในเวลาเพียง 3 วินาที มาตรวัดเส้นรอบวงของหน้าปัดถูกแบ่งออกเป็นสเต็ปเล็กๆ ของ 1/100 ต่อวินาที วงกลมหน้าปัดย่อยนาทีถูกวางที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และสามารถวัดได้สูงถึงสามนาที |
1938: นาฬิกาจับเวลาสำหรับการแข่งกีฬาสกี (5 Hz) พร้อมเข็มแบบ split-second [CAL. 24 LINES]
เมื่อการแข่งขันกีฬาเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น Longines จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการ ในการแข่งขันกีฬาหลากหลายรายการ
ในปี 1938 Longines ได้พัฒนากลไกที่มีความแม่นยำสูงขึ้นคือคาลิเบอร์ 24 lines นาฬิกาโครโนกราฟนี้ ทำงานด้วยพื้นฐานของโครโนมิเตอร์การเดินเรือ (cal. 24.99) นาฬิกาจับเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬาสกีตามที่เห็นในภาพ (จากปี 1939) แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมงเพื่อจับเวลาอย่างละเอียดถึง 1/10 ต่อวินาที เข็มโครโนกราฟจะหมุนหนึ่งรอบใน 30 วินาที ซึ่งช่วยให้สามารถอ่านค่าเศษวินาทีได้ มาพร้อมเข็มแบบ split-second และการบันทึกค่า 30 นาที โดยนาฬิกาจับเวลาระดับมืออาชีพนี้ที่มาพร้อมปุ่ม pusher สามปุ่มได้รับการครอบตัวเรือนด้วยสตีล Staybrite กลไกได้รับการทดสอบในสามตำแหน่งและได้รับการชื่นชมจาก Observatory of Neuchâtel ในฐานะนาฬิกาที่มีความแม่นยำสูง หลังจากนั้น Longines ก็ได้ผลิตคาลิเบอร์ลักษณะนี้ออกมาอีกมากมาย |
1957: นาฬิกาโครโนกราฟระดับความถี่สูงและเข็มแบบsplit-second เพื่อจับเวลา 1/10th ต่อวินาที [CAL. 260]
เพื่อเป็นการพัฒนาคาลิเบอร์ 24-line ของปี 1938 Longines จึงได้เปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟ ที่มีขนาดเดียวกันออกมาในปี 1957 ซึ่งมาพร้อมวงกลมหน้าปัดย่อย 30 นาที และระบบการหยุดเวลา อุปกรณ์การจับเวลาระดับมืออาชีพนี้ยังมีเข็มนาทีและเข็มชั่วโมง แต่ยังคงสามารถจับเวลาที่ละเอียดสูงถึง 1/10 ต่อวินาทีได้ ซึ่งต้องยกความดีให้กับกลไกที่มีความถี่สูง (แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง) พร้อมด้วยฟังก์ชั่น Flyback และเข็มแบบ split-second โมเดลดังรูปจากปี 1966 มีกลไกโครโนกราฟพิเศษพร้อมด้วยสเกลที่เรียกว่า nonius-scale โดยมีช่อง“ฟัน” 9 ตัวที่บ่งชี้การสิ้นสุดของเข็มนาฬิกา เมื่อเข็มนาฬิกาหยุดลง หนึ่งใน “ฟัน” นี้จะหยุดตรงกับหนึ่งในเส้นวินาทีรอบหน้าปัด ตัวเลขที่อยู่บนฐานของ “ฟัน” คือการบ่งบอก 1/10 ต่อวินาที |
1959: นาฬิกาข้อมือความถี่สูงเรือนแรกระดับ Observatory Chronometer [CAL. 360]
ในช่วงปี 1950 Longines เชื่อว่าในยุคนั้นจำเป็นต้องเพิ่มการพัฒนาในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในโลกนาฬิกาที่มีการแข่งขันสูงเอาไว้ จากภาพวาดต้นแบบของเดือนสิงหาคม ปี 1958 Longines ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือความถี่สูงเรือนแรกออกมาในปี 1959 ด้วยกลไกคาลิเบอร์ 360 แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง ผลิตขึ้นอย่างพิถีพิถันด้วยมือและได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อการแข่งขัน Observatory Chronometer Competitions เป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านกลไกถูกแสดงออกมาให้เห็นด้วยนาฬิกาสองร้อยเรือนจากปี 1959-1963 นาฬิกาหน้าปัดสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรือนนี้ได้รับการพัฒนาในด้านความแม่นยำ และได้รับรางวัลที่หนึ่งและที่สองในการประกวดความแม่นยำที่ Observatory of Neuchâtel ในปี 1961 และในปีถัดมาได้รับรางวัลที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม ค่าคาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 1/10 ต่อวินาทีหรือน้อยกว่า |
1966: Ultra-Chron นาฬิกาข้อมือที่แกว่งด้วยความถี่สูง [CAL. 431]
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 วิศวกรของ Longines ได้พัฒนากลไกที่เข้าคู่กับความแม่นยำของนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ เรือนใหม่ ด้วยประสบการณ์ของพวกเขาในการผลิตนาฬิกาจับเวลาและการทำงานใน Observatory Chronometers จึงทำให้พวกเขารู้ว่านาฬิกาความถี่สูงนั้นมีความเที่ยงตรงมากขึ้นในตำแหน่งแนวตั้งและแนวนอน และกำลังเครื่องตกน้อยลงเมื่อข้ามวัน จึงทำให้นาฬิกามีความแม่นยำมากกว่า ทว่าข้อเสียคือกำลังลานสำรองที่น้อยกว่าและปัญหาการหล่อลื่น Longines ค้นพบทางออกและจัดการแก้ไขปัญหา เหล่านี้ ในคาลิเบอร์ 431 (ด้วยการหล่อลื่นแบบแห้งที่ได้รับการจดสิทธิบัตร) และสามารถการันตีความแม่นยำสูงเพียงหนึ่งนาทีต่อเดือนหรือสองวินาทีต่อวัน เนื่องจากมีความแม่นยำมากกว่ากลไกระดับโครโนมิเตอร์ที่ได้รับการรับรองโดย COSC โมเดลนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า Ultra-Chron และ Longines ได้จดทะเบียนชื่อนี้ในเดือนตุลาคม ปี 1966 และนาฬิกา Ultra-Chron เรือนแรกๆ ถูกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม ปี 1966 |
1968: Ultra-Chron Diverนาฬิกาความถี่สูงเรือนแรกที่ทำงานใต้น้ำ [CAL. 431]
ในปี 1967 Longines เปิดตัวนาฬิกา Ultra-Chron เวอร์ชั่นสปอร์ต ซึ่งเป็นนาฬิกาดำน้ำที่มาพร้อมเข็มนาทีสีแดงสด และคุณสมบัติการกันน้ำถึง 200 เมตร ในช่วงต้นของปี 1968 นาฬิกาเรือนนี้คือนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกที่เดินด้วยความถี่สูงและอาจเรียกได้ว่ามีความแม่นยำสูงสุด โดยทำงานด้วยกลไกพิเศษคาลิเบอร์ 431 เช่นเดียวกับนาฬิกา Ultra-Chron เรือนอื่นๆ Longines การันตีความแม่นยำระดับสูงถึงหนึ่งนาทีต่อเดือน ซึ่งเฉลี่ยได้เป็นสองวินาทีต่อวัน ตัวเรือนทรง Tonneau นี้มาพร้อมการบอกวันที่ และขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ ซึ่งช่วยให้นักดำน้ำสามารถกำหนดเวลาในการอยู่ใต้น้ำได้ เพื่อยืนยันในความแม่นยำ แม้ภายใต้น้ำที่ขุ่นมัว อินเด็กซ์บนหน้าปัด สัญลักษณ์สามเหลี่ยมบนขอบตัวเรือน หรือแม้แต่ปลายเข็มวินาที (ของซีรีส์แรก) จึงถึงแต้มด้วย tritium |
การจับเวลาให้การแข่งขันกีฬาด้วยอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำระดับสูงโดย Longines
ด้วยความสามารถในการพัฒนาอุปกรณ์บอกเวลาที่มีความแม่นยำระดับสูง Longines จึงได้รับเชิญให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการให้กับการแข่งขันกีฬาที่สำคัญๆ ทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้ เกียรติภูมิอันน่าภาคภูมิใจนี้ได้ขับเคลื่อนให้ Longines พัฒนานาฬิกาที่มีความแม่นยำและเที่ยงตรง รวมทั้งอุปกรณ์บอกเวลาที่ดียิ่งขึ้น
กีฬาขี่ม้า
ในอดีตที่ยาวนานในปี 1878 Longines ได้พัฒนากลไกโครโนกราฟออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่นานได้ถูกนำไปบรรจุในตัวเรือนที่สลักสัญลักษณ์นักขี่ม้าและม้าของเขา โดยจะสามารถพบเห็นนาฬิกาจับเวลาเหล่านี้ ในการแข่งขันขี่ม้าของชาวอเมริกันในช่วงปี 1880 ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นอุปกรณ์การจับเวลา ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักขี่ม้า รวมถึงผู้ที่มาร่วมชมการแข่งขัน
ในปี 1912 ก้าวสำคัญครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ Longines ได้เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการให้กับการแข่ง show jumping ในลิสบอน โปรตุเกส และตลอดหลายปี ทางแบรนด์ก็ได้เป็นผู้จำเวลาให้กับการแข่งขันกีฬาขี่ม้ามามากกว่าพันครั้ง สำหรับการแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งขันต้องอยู่ใกล้ชิดกัน Longines ได้ผลิตนาฬิกาจับเวลาโดยมีเข็มแบบ split-hand และกลไกที่แม่นยำสูงถึง 1/10 ต่อวินาทีหรือ 1/100 ต่อวินาที ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาที่สืบทอดมา ความผูกพันของแบรนด์ที่มีต่อกีฬาขี่ม้าในปัจจุบันจึงรวมถึง show jumping, dressage และ flat racing
การแข่งกีฬาสกีบนเทือกเขาแอลป์
การไถสกีจากบนเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของ Longines ในปี 1924 ทางแบรนด์ได้รับโอกาสในการจับเวลาให้กับ “International Week of Winter Sports”ในเมือง Chamonix ประเทศฝรั่งเศส
หลายปีหลังจากนั้น นาฬิกาจับเวลาจาก Longines ได้ทำหน้าที่จับเวลาให้กับงาน World Ski Championships ซึ่งจัดขึ้นในเมืองเดียวกันนั้น ในปี 1939 ได้เปิดตัวนาฬิกาจับเวลาสำหรับการเล่นสกี ด้วยกลไกความถี่สูงและเข็ม split-second ที่วัดได้ 1/10 ครั้งต่อวินาที สำหรับ Military Ski Championships ใน Crans-Montana (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ที่จัดขึ้นในปี 1945 Longines ได้นำเสนอการใช้ photocell light barrier ที่จุดเส้นชัย
ต่อมาในปี 1948 Longines ได้รับเลือกให้เป็นผู้จับเวลาของการแข่งขัน Kandahardownhill Race ในเมือง Sankt Anton ประเทศออสเตรีย อีกทั้งผู้จัดงาน Ski World Championships of 1950 ใน Aspen สหรัฐอเมริกายังได้เลือก Longines ให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการอีกด้วย
ปัจจุบันนี้ Longines คือพาร์ทเนอร์และผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของ FIS Alpine Ski World Cup Tour และ FIS AlpineWorld Ski Championshipsอีกทั้งยังเดินหน้าเป็นผู้จับเวลาให้กับการแข่งขันสกีที่โด่งดังที่สุดใน FIS Alpine Ski World Cup รวมถึงงานอื่นๆ อย่างการแข่งสกีภูเขาใน Kitzbühel (ประเทศออสเตรีย) หรือใน Lauberhorn-Wengen (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
การแข่งขันแรลลี่ระดับโลก
ในเดือนมกราคม 1949 รถยนต์จากทั่วยุโรปได้เข้าร่วมในการแข่งขันแรลลี่ครั้งแรกของ Rallye Monte-Carloที่จัดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Longines ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จับเวลาซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการจับเวลามานานกว่า 30 ปี
ในปี 1955 Longines ได้เปิดตัวอุปกรณ์การพิมพ์พิเศษที่เรียกว่า Printogines ขับเคลื่อนด้วยนาฬิกาที่กำลังลานสำรองนาน 8 วัน ซึ่งทำให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถตอกบัตรของตนเองที่จัดเช็คพอยต์ที่ห่างกันถึง 5,000 กิโลเมตร ความแม่นยำและแข็งแรงทนทานของอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถบันทึกเวลาที่ชนะในการแข่งขันจากเส้นทางที่ผ่านเช็คพอยต์ทั้งหมด นับเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์อย่างมากจนทำให้ Longines ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จับเวลาให้กับการแข่งแรลลี่ชื่อดังมากมายในยุคนั้น ซึ่งรวมถึง Coupe des Alpes, the RAC Rally of Great Britain, TAP Rally ในโปรตุเกส และ Thousand Lakes ในฟินแลนด์ รวมถึง Rallye Acropolis ในกรีซและ Rallye de Côte d’Ivoire ในแอฟริกา
การแข่งขันจักรยาน
ในปี 1951 Longines ได้รับเชิญให้เป็นผู้จับเวลาของการแข่งขันจักรยานระดับโลกอย่าง Tour de France การแข่งปั่นจักรยานทั่วประเทศฝรั่งเศสคือโอกาสอันยอดเยี่ยมในการทดลองระบบใหม่ที่ผสมผสานกล้องที่เส้นชัยพร้อมด้วยอุปกรณ์การบันทึกเวลาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนบนฟิล์ม ระบบการจับเวลาแบบนี้ช่วยแก้ปัญหาการถ่ายภาพเมื่อกลุ่มผู้เข้าแข่งขันมาอยู่ใกล้กันที่บริเวณเส้นชัยในเวลาไล่เลี่ยกัน Jean Pitallier อดีตประธานแห่ง French Cycling Federation จับเวลาการแข่งด้วยตัวเองในทุกการแข่งของ Tour de France ตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1980 ด้วยนาฬิกาจับเวลา split-second ความถี่สูงของ Longines (ref. 7411) จำนวนสองเรือน ลองจินส์ได้รับหน้าที่เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการจนถึงปี 1982 แต่การผูกพันกับโลกการแข่งขันจักรยานของลองจินส์ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น จากปี 1954 ถึง 1988 Longines ได้เป็นผู้จับเวลาให้กับการแข่งจักรยานระดับโลกถึง 28 ครั้งรวมถึงการแข่งชื่อดังอย่าง Giro d’Italiaหรือ Vuelta ในสเปน
การแข่งขันรถแข่ง Formula 1
ในปี 1949 Longines ได้เปิดตัวระบบการจับเวลาสำหรับการแข่งรถที่สามารถบันทึกความเร็ว 1/10 ครั้งต่อวินาทีผ่านทางชุดภาพถ่าย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการบอกเวลาที่แม่นยำจนกระทั่ง International Automobile Federation ได้รับรองวิธีนี้ในปี 1950 ในปีเดียวกันนั้นในฤดูการแข่งครั้งแรกของ Formula 1 ทาง Longines ได้รับเกียรติให้เป็นผู้จับเวลาของ Grand Prix de Monaco และ Indianapolis 500 ในสหรัฐอเมริกา รวมถึง Formula 1 ใน Barcelona สเปน, Buenos Aires อาร์เจนติน่า, Spa เบลเยี่ยม , Zandvoort เนเธอร์แลนด์ และ Bern สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยการแข่งขันอีกมากมายในปีต่อๆ มา
ในปี 1954 Longines ได้พัฒนา Chronotypogines ที่ใช้ระบบเซนเซอร์แบบอัตโนมัติที่จุดสตาร์ทและจุดเส้นชัย ไม่นาน International Automobile Federation ก็ได้นำระบบนี้ไปใช้ ในปี 1980 Longines เปิดตัว (พร้อมกับ Olivetti) วิธีใหม่ในการจับเวลารถแข่งแต่ละคันแยกออกจากกันโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งนำไปสู่บทบาทของแบรนด์ในฐานะผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการให้กับการแข่ง Formula 1 นับตั้งแต่ปี 1982 ถึง 1992
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigionline/
YouTube Channel : https://www.youtube.com/channel/anadigionline