โรงงานผลิตนาฬิกาของ Seiko ยังมีอะไรให้สัมผัสอีกมากมาย ทั้งในเรื่องการผลิตนาฬิกาหรูระดับไฮเอนด์อย่าง Credor หรือพวกที่ทันสมัยอย่าง Astron หรือ Kinetic
เดินดูไลน์ผลิต Seiko (2)
หลังจากที่เล่าถึงการเดินทางมาเยือนโรงงานผลิตนาฬิกาของ Seiko ถึงเมืองชิจิโอริ ประเทศญี่ปุ่นมาแล้วในตอนที่แล้ว คราวนี้มาดูกันต่อว่าการผจญภัยของพวกเราภายในไลน์ผลิตของ Seiko เป็นอย่างไรกันต่อ
Shinshu Watch Studio
ก่อนเข้าสู่พื้นที่การทำงานของเหล่าช่างนาฬิกา ด้านหน้าทางเข้าประดับผนังด้วยรายละเอียดของแผนกต่างๆ รวมไปถึงรายนามของเหล่าช่างนาฬิการะดับชั้นยอดกลุ่ม The first class skilled watch artisan ที่ทำงานในส่วนงานประกอบเครื่องที่ซับซ้อนและประณีต จากนั้นก็ต้องเดินผ่านห้องพิเศษที่จะพ่นลมทำความสะอาดขจัดฝุ่นผงก่อนเข้าสู่พื้นที่ของ Takumi Studio โดยมีซูเปอร์ไวเซอร์ของแผนกเป็นผู้บรรยาย แผนกนี้รับผิดชอบในการประกอบชิ้นส่วนกลไกชั้นสูง ทั้งกลไก Spring Drive ของ Grand Seiko ซึ่งจะมีช่างผู้ชำนาญที่ประกอบได้เพียง 8 คนเท่านั้น แต่ละคนจะประกอบชุดกลไกตั้งแต่ชิ้นแรกไปจนถึงสำเร็จสมบูรณ์ นอกจากนี้ก็ยังมีช่างประกอบกลไกควอตซ์ชั้นสูงให้กับ Grand Seiko และนาฬิกา Credor ซึ่งต้องอาศัยความประณีตอย่างยิ่ง ภายในห้องจะถูกออกแบบให้อากาศสามารถหมุนเวียนถ่ายเทได้เป็นอย่างดี จากเพดานลงมาสู่พื้น พร้อมกับมีแผ่นกรองอากาศหลังโต๊ะทำงานของช่างทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ตลอดการทำงาน
ถัดมาอีกห้องจะเป็นแผนกของการประกอบชิ้นส่วนให้กับ Grand Seiko และ Credor รวมทั้งนาฬิกาแบรนด์ Galente ทั้งตัวเรือน กลไก จนเสร็จสมบูรณ์ เพียงแต่ยังไม่ประกอบสาย ในแผนกนี้เราได้เห็นการทำงานส่วนของการติดตั้งเข็มนาฬิกาที่มีความละเอียดมาก เนื่องจากเข็มที่บาง เบาและต้องติดเหนือพื้นหน้าปัดเพียงเส้นผม เพื่อให้เข็มเดินได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกันก็ไม่ลอยเด่นเกินไป เมื่อนาฬิกาประกอบเสร็จก็จะถูกส่งมายังห้องถัดมา เพื่อผ่านการตรวจสอบในมาตรฐานต่างๆ รวมถึงการปรับตั้งเพื่อให้มั่นใจว่าทุกชิ้นส่วนทำงานได้อย่างถูกต้องและเที่ยงตรงที่สุด
เราเดินออกจากห้องและลงบันไดมาห้องด้านล่าง ซึ่งเป็นส่วนของแผนก Micro Artist Studio แผนกนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 200 เป็นส่วนของการพัฒนานาฬิกากลไกซับซ้อน ทั้ง Credor Spring Drive Minute Repeater, Credor Spring Drive Sonnerie ที่ให้เสียงไพเราะของกระดิ่งลมและเสียงตีระฆังกังวาล รวมไปถึงผลงานที่สะท้อนความงามของหน้าปัดพอร์ชเลน เนื้อเซรามิกสีขาวงามจับตาของ Credor Eichi II ที่ผลิตขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีนาฬิกาไลน์ Credor และครบรอบ 15 ปีของกลไก Spring Drive ในปี 2014
Credor เป็นนาฬิกาในกลุ่มเดรสวอท์ชที่ผลิตสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1974 โดยคำว่า Credor มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสคือ crête d’or ทุกชิ้นส่วนกลไกต้องผ่านการขัดแต่งอย่างงดงามและประณีตในทุกส่วน ทั้งยังต้องคัดเลือกวัสดุที่จะมาใช้ในการผลิตเป็นอย่างดี โดยการขัดแต่งชิ้นส่วนกลไกจักรกลซับซ้อนได้ปรมาจารย์อย่าง Philippe Dufour (ฟิลิป ดูฟูร์) มาช่วยสาธิตและสอนเทคนิคให้ ซึ่งยังมีภาพของ มร.ดูฟูร์ ตั้งเด่นภายในแผนกนี้ด้วย
เบื้องหลังความงามประณีตของรุ่นตีบอกเวลาอย่าง Credor Spring Drive Sonnerie คือ Mr.Yoshifusa Nakazawa (มร.โยชิฟูซะ นาคาซาว่า) ช่างนาฬิกาที่มีรางวัลมากมายเป็นประกัน ล่าสุดก็เพิ่งได้รับรางวัล “Medal with Yellow Ribbon” รางวัลอันทรงเกียรติสูงส่งจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่มอบให้บุคคลสาธารณะตัวอย่างผู้ทุ่มเทอุทิศตนและพากเพียรอุตสาหะต่ออาชีพ เรื่องน่าทึ่งก็คือ มร.นาคาซาว่า ซึ่งทำงานกับ Seiko มานานกว่า 37 ปี ผู้ที่กลายเป็นยอดฝีมือด้านนาฬิกา เพียงเพราะได้ทำงานกับบริษัทผลิตนาฬิกา แต่เดิมเขาเคยอยู่แผนกผลิตเครื่องพริ้นเตอร์มาก่อน เขาเล่าว่า บางปีก็ทำพริ้นเตอร์ บางปีก็หันมาทำนาฬิกา จนกระทั่งปี 1978 เขาเริ่มทำงานในแผนก Training Center มีโอกาสไปแข่งประกอบชิ้นส่วนนาฬิกาที่สหรัฐอเมริกาที่เรียบได้กับการแข่งโอลิมปิก และคว้ารางวัลมาได้ในที่สุด ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้เขาตั้งใจเป็นช่างนาฬิกาอย่างจริงจัง ในที่สุด เขาก็คือยอดฝีมือของ Seiko ที่รังสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมของระบบตีบอกวเลาอันไพเราะนั่นเอง
บรรยายภาพ
1.ทีม The first class skilled watch artisan
2.ภายในห้องประกอบกลไกของ Takumi Studio
3.ช่างนาฬิกากำลังประกอบกลไกควอตซ์ของ Credor ด้วยมืออย่างประณีตฃ
4.Credor Spring Drive Sonnerie
5.Credor Spring Drvie Minute Repeater
6.อุปกรณ์ควบคุมเสียงของรุ่น Credor Spring Drvie Minute Repeater
7.หนึ่งในขั้นตอนการทำพื้นหน้าปัด
8.เข็มบางเฉียบที่รอการติดตั้ง
Case, Dial and Jewelry Studio
อีก 3 แผนกสำคัญในโรงงาน Seiko Epson Corporation ก็คือแผนของการทำตัวเรือนและการประดับอัญมณี ในส่วนของตัวเรือนนั้นต้องบอกว่า การขัดแต่งในทุกองศาทำด้วยความละเอียดประณีตและต้องรักษาความสมดุลของรูปทรงตัวเรือนและข้อต่อให้มีความสมบูณ์แบบที่สุด การขัดแต่งตัวเรือนทั้งขัดเงาและปัดด้าน ต้องผ่านกระบวนการมากกว่า 10 ขั้นตอน โดยเฉพาะตัวเรือนของ Grand Seiko ทุกองศาจึงงามจับต่าอย่างยิ่ง
ในเรื่องของการทำหน้าปัดเองเป็นงานในส่วนแผนก Dial Workshop ต้องบอกว่าน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง หน้าปัดแต่ละชิ้นผ่านขั้นตอนหลายขั้น ทั้งการเคลือบ การขัด เพื่อให้พื้นหน้าปัดมีความงามสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการประทับตัวเลขและขีดเครื่องหมายด้วยหมึก กับเจลาตินที่ทำขึ้นเองภายในโรงงาน ซึ่งจะจับหมึกได้ดีกว่า คมกว่า ทำให้ตัวเลขและขีดเครื่องหมายมีความคมชัดและงดงาม แต่หากเป็นขีดเครื่องหมายที่ทำด้วยโลหะ ทุกขีดขนาดเล็กจะต้องผ่านการขัดแต่งเหลี่ยมมุม ให้ทุกองศามีความสมดุลและสมบูรณ์แบบ เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดและใช้เวลาในการทำงานจริงๆ
จากแผนกตัวเรือนและสาย เรามาถึงห้องที่ค่อนข้างมืดสักหน่อย ซึ่งเป็นส่วนของ Jewelry Studio รับผิดชอบงานประดับเพชรบนขอบตัวเรือนและบนพื้นหน้าปัด ช่างหลายคนดูมีอายุ เพราะแผนกนี้ต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง ห้องที่ออกแบบให้มีแสงสว่างน้อยกว่าปกติก็เพื่อให้เหล่าช่างประดับอัญมณีสามารถตรวจสอบการเล่นแสงของอัญมณีได้ชัดเจน ซึ่งในแผนกนี้ยังมีผลงานเรือนสวยประดับเพชรในดีไซน์แปลกตาของแบรนด์ Seiko, Credor ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอยู่หลายรุ่นเช่นกัน และมาถึงแผนก Movement Assembly Section ส่วนของการประกอบชิ้นส่วนกลไกนาฬิกา ซึ่งทำงานด้วยเครื่องจักรทันสมัย ประกอบชิ้นส่วนของนาฬิกา Astron ที่ประกอบด้วยแผงรับแสงอาทิตย์ ชุดกลไกโครโนกราฟ กลไกคีเนติก และกลไกควอตซ์มาตรฐาน ต่างก็ประกอบในแผนกนี้ทั้งสิ้น รวมไปถึงการติดตั้งเข็มนาฬิกาในทุกฟังก์ชันการทำงาน ล้วนติดตั้งด้วยเครื่องจักรที่เรียงรายเป็นแถวที่ถูกตั้งโปรแกรมและกำหนดหน้าที่อย่างขัดเจน โดยมีช่างผู้ชำนาญคอยดูแลตลอดเวลา
นอกจากนี้ก็ยังมีแผนก Complete Watch Section ที่ประกอบนาฬิกาแบรนด์ภายใต้กลุ่ม Seiko อื่นๆ ด้วย เป็นอีกแผนกที่ใช้เครื่องจักรผสานการทำงานกับช่างผู้ชำนาญได้อย่างน่าทึ่ง
บรรยายภาพ
10.ภายในห้องของแผนก Jewelry Studio ที่ค่อนข้างแสงน้อย เพื่อให้เห็นประกายอัญมณีได้ดีกว่า
11.การเพ้นท์พื้นหน้าปัดด้วยเจลาตินที่ผลิตขึ้นภายในโรงงาน
12.พื้นหน้าปัดหลากแบบ
13.ความซับซ้อนของการทำพื้นหน้าปัด ทั้งการเคลือบเงาและการขัดแต่ง
ทดสอบนาฬิกา Seiko Astron
หลังจากที่ชมโรงงานกันในทุกส่วนแล้ว เรายังมีโอกาสได้ทดสอบนาฬิกา Seiko Astron ความทันสมัยเพื่อนักเดินทางที่มาพร้อมการตั้งเวลาต่างไทม์โซนอย่างรวดเร็วด้วยระบบ GPS ซึ่งรับสัญญาณจากดาวเทียม ใช้งานง่ายและตั้งเวลาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เหมาะกับนักเดินทางโดยแท้ นอกจากนี้ Mr. Ikuo Tokunaga (มร.อิคุโอะ โทกูนากะ) ยังให้เกียรติมาบรรยายถึงความยอดเยี่ยมของนาฬิกาดำน้ำ Seiko Prospex ต้นตำนานอันยิ่งใหญ่ที่สานต่อมาจนถึง 50 ปี เพิ่งฉลองวาระครบรอบครึ่งทศวรรษไปเมื่อปี 2015 นี้เอง งานนี้ได้ชมทั้งนาฬิกาเรือนจริงและยังได้เห็นถึงองค์ประกอบของตัวเรือนอันแกร่งทนแยกชิ้นให้ชมกันชัดๆ ด้วย
บรรยายภาพ
14.Seiko Astron เรือนเท่ที่จับสัญญาณ GPS จากดาวเทียมในการตั้งเวลา
15.Mr. Ikuo Tokunaga ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาและเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้พัฒนา Professional Diver’s 600M นาฬิกาดำน้ำรุ่นแรกๆ ของโลกที่ผลิตตัวเรือนชั้นนอกจากวัสดุอวกาศอย่าง Titanium แม้จะรีไทร์ไปแล้ว แต่ก็ยังให้เกียรติมาอธิบายถึงตำนานอันยิ่งใหญ่ด้วยตนเอง
38 นาฬิกาดำน้ำ Professional Diver’s Watch
39 แยกชิ้นส่วนของ Professional Diver’s Watch เผยให้เห็นถึงหนึ่งในนวัตกรรมการกันน้ำเป็นเยี่ยม
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/