กับชีวิตที่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเต็มตัว และวางอยู่รอบบ้าน คนที่ใช้นาฬิกา และจริงจังกับเรื่องของความเที่ยงตรงในการทำงานอาจจะต้องระวังและใส่ในการวางหรือเก็บนาฬิกากันสักหน่อย เพระแค่การวางใกล้กับสมาร์ทโฟนมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลต่อนาฬิกาสุดที่รักของคุณได้
สนามแม่เหล็ก ภัยเงียบใกล้ตัวของคนรักนาฬิกา
ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ได้ทันคิดว่า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้นจะส่งผลอะไรบางอย่างต่อนาฬิกาสุดรักสุดหวงของตัวเอง และก็มีบ้างที่บางคนกลับวางนาฬิกาของตัวเองเอาไว้ข้างๆ อุปกรณ์เหล่านั้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการว่า บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้สามารถสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมาจนกลายเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกลไกนาฬิกา
ประเด็นนี้ได้กลายมาเป็นจุดที่คนรักนาฬิกาควรจะเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะรอบๆ ตัวเราเต็มไปด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่พร้อมจะผลิตคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Field) ออกมา หรือแม้แต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่มีการปลดปล่อยคลื่นนี้ออกมาด้วยเช่นกัน
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะสร้างสนามแม่เหล็ก ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นแม่เหล็กโดยคลื่นดังกล่าวจะมีผลกระทบกับนาฬิกาที่ใช้เข็มเป็นตัวบอกเวลา ไม่ว่าจะเป็นควอตซ์ หรือกลไก โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาควอตซ์ซึ่งมีมอเตอร์ขนาดเล็กเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของเข็มคือ การเข้ามารบกวนของคลื่นแม่เหล็ก จนทำให้การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าเกิดความคลาดเคลื่อน และส่งผลต่อเนื่องไปยังความเที่ยงตรง
ขณะที่นาฬิกากลไกอัตโนมัตินั้น อาจจะได้รับผลกระทบบ้างขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งถ้ามีความเข้มข้นมาก จะทำให้เกิดอาการเดินเร็ว เพราะที่ส่งผลให้เกิดแรงต้านการหมุนของจักรกรอก รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ ในตัวกลไก หรือถ้าหนักสุดคือ หยุดเดินส่วนนาฬิกาดิจิตอลนั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องตรงนี้สามารถแก้ไขได้ เพราะตามร้านนาฬิกาหลายที่มักจะมีเครื่องสลายสนามแม่เหล็ก (Demagnetized Device) เตรียมเอาไว้ให้บริการด้วย ซึ่งแน่นอนว่าก็มีค่าใช้จ่าย หรือแม้แต่ในคู่มือของนาฬิกาบางยี่ห้อ เช่น Grand Seiko ก็จะมีการพูดถึงเรื่องนี้ด้วย และการสลายสนามแม่เหล็กในนาฬิกาจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แม้ว่านาฬิกาจะยังอยู่ในระยะประกันก็ตามที แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องจับอาการผิดปกติของนาฬิกาได้ด้วยว่ามีความผิดปกติในการเดินเร็ว เพราะบางคนมีนาฬิกาหลายเรือนและสลับกันใส่แบบไม่ซ้ำวัน ก็อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ในตลาดยังมีนาฬิกาบางเรือนที่ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ เพราะถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อการคลื่นแม่เหล็ก-Anti-Magnetic เช่น Casio G-Shock ในตระกูล GA100/110 หรือ Omega Speedmaster, Rolex Milgauss, Mido Baroncelli Si ที่มีการออกแบบ Balance Spring แบบใหม่ที่ใช้วัสดุอย่างซิลิคอนมาทดแทนโลหะ เลยสามารถทนทานสนามแม่เหล็กได้ หรือแม้แต่นาฬิกาดำน้ำบางรุ่นที่ผ่านมาตรฐาน ISO 6425 ก็จะต้องมีคุณสมบัติทนทานต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ในระดับ 4,800 A/m โดยที่คงความเที่ยงตรงในระดับ +/-30 วินาที/วัน
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เวลาถอดหรือเก็บนาฬิกาก็ควรหาจุดวางที่ห่างจากอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้จะดีกว่าครับ
นาฬิกากับการป้องกันความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
นาฬิกาทั่วไป : ทนได้ในระดับ 1,600 A/m หรือ 20 Gauss ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่นาฬิกาปกติทั่วไปจนรับมือได้
นาฬิกา Anti-Magnetic แบบทั่วไป : ทนได้ในระดับ 4,800 A/m หรือ 60 Gauss โดยนาฬิกาประเภทนี้จะสามารถวางคู่กับอุปกรณ์ที่มีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาได้ในระยะห่าง 5 เซ็นติเมตร
นาฬิกา Anti-Magnetic แบบเทพ : ทนได้ในระดับ 16,000 A/m หรือ 200 Gauss โดยนาฬิกาประเภทนี้จะสามารถวางคู่กับอุปกรณ์ที่มีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาได้ในระยะห่าง 1 เซ็นติเมตร
นาฬิกาดำน้ำ : ทนได้ในระดับ 4,800 A/m หรือ 60 Gauss โดยเป็นข้อกำหนดของนาฬิกาดำน้ำที่ผ่านมาตรฐาน ISO 6425
Fanpage : https://www.facebook.com/anadigiwatch/